ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดเพชรบุรีได้มีประกาศคำสั่งจังหวัดเพชรบุรี ที่ 813/2564 เรื่อง ให้พนักงาน แรงงาน และบุคคลของบริษัท แคลคอมพ์ อิเล็กทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค
ตามที่จังหวัดเพชรบุรีได้มีคำสั่งจังหวัดเพชรบุรี ที่ 790/2564 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ห้ามบุคคลเข้าไปหรือออกจากอาคารสถานที่เป็นการชั่วคราวและจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองในพื้นที่ตำบลสระพังและตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย เพื่อตรวจคัดกรองพนักงาน แรงงาน และบุคคล ของบริษัทแคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นั้น
เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่อำเภอเขาย้อยและอำเภออื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาศัยอำนาจตามความในตามมาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ข้อ 1 และข้อ 8 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการสถานการณ์ในฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 40/2564 เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2564 จึงออกคำสั่งต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้พนักงาน แรงงาน และบุคคล ของบริษัทแคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ที่ตนพักอาศัย ภายใน 3 วัน เพื่อรับการตรวจ คัดกรองและรับการรักษา ทั้งนี้ ต้องดำเนินการตามแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีกำหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ 2 ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอำเภอ สาธารณสุขอำเภอและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่ในการตรวจ คัดกรอง และการรักษา และดำเนินมาตรการตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข้อ 3 ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรายงานผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรอง และการรักษา แต่ละวันให้อำเภอทราบ เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้ไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้ใช้สิทธิโต้แย้งได้
ตามความมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
สั่ง ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
(นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี