วันที่ 22 พ.ค.64 ความคืบหน้าจากการที่กรมชลประทานพยายามหาทางแก้ปัญหาการกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำยมมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อถึงฤดูแล้งแม่น้ำยมกลับแห้งขอด ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำขึ้น 4 แห่ง ในแม่น้ำยม เพื่อกักเก็บน้ำให้กับชาวนาในพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร คือการก่อสร้าง ปตร.ท่านางงาม , ปตร.ท่าแห , ปตร.วังจิก , ปตร.โพธิ์ประทับช้าง
ล่าสุดเพื่อติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของการก่อสร้าง นายเสกโสม เสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นาย พิรัฐภัช พานทอง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม , นายธนาธิป แก้วมณี หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 1 , นายณัฐวุฒิ เภสัชเวชกิจ หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงามที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 460 ล้านบาท ซึ่ง ปตร.ท่านางงาม แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งการก่อสร้างได้ดำเนินการมีความคืบหน้าไปแล้ว 44.60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2566 ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จประตูระบายน้ำท่านางงาม แห่งนี้จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยมได้ประมาณ 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (เจ็ดล้านหกแสนลูกบาศก์เมตร) ระยะกักเก็บน้ำ 22.14 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุม 5 ตำบล 1 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ ตำบลชุมแสงสงคราม, ตำบลท่านางงาม, ตำบลคุยม่วง, ตำบลบางระกำ, ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 51,375 ไร่
สำหรับ ปตร.ท่านางงาม แห่งนี้เมื่อแล้วเสร็จก็จะส่งผลให้แม่น้ำยมที่อยู่ในเขตจังหวัดพิษณุโลกมีน้ำอุดมสมบูรณ์เพียงพอให้กับเกษตรกรได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรรวมถึงจะส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงมีความอุดมสมบูรณ์ตามมาด้วย ทั้งหมดนี้คือความพยายามและความตั้งใจจริงของรัฐบาลและกรมชลประทานที่ทำ เพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวลุ่มน้ำยมในเขตพื้นที่ตำบลท่านางงามและพื้นที่ข้างเคียงอย่างแท้จริง