ฝนหลวงฯ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บริเวณ จ.ขอนแก่น เมื่อ​​วันที่ 22 พ.ค. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในวันนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่การกระจายตัวและปริมาณฝนที่ตกมีเพียงแค่บางพื้นที่ และฝนที่ตกยังคงเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และอาจจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูฝน ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนมากกว่าภาคอื่น และในระยะนี้ หลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะเหลือแค่บางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 13 หน่วยฯ ซึ่งได้รับการบูรณาการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนบุคลากรและเครื่องบินในการร่วมกันปฏิบัติการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ซึ่งเมื่อวานนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก ได้ขึ้นบินปฏิบัติฝนหลวงเวลา 15.22 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น หลังปฏิบัติการพบว่ามีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น โดยไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ช่วงหลังปฏิบัติการเวลา 15.22–18.22 น. สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง เชียงใหม่ กำแพงเพชร พิษณุโลก แพร่ ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ทั่วทุกภูมิภาค พบว่า มีบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.อุดรธานีช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำอูน และลำปาว หน่วยฯ อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร หน่วยฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ และหน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา ​​ ทั้งนี้ อีก 9 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100