เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานะของไทยในเวทีโลก ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจและได้รับการจัดอันดับที่ดี มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่น่าสนใจในสายตาต่างชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่น่าสนใจด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนจากหลายๆ หน่วยงานในระดับโลก อาทิ เป็นอันดับ 1 ตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2564 จากการจัดอันดับของ Bloomberg Study (1st in Bloomberg’s Emerging) เป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลกประจำปี 2563 จากการจัดอันดับของ Bloomberg Survey (1st least miserable country for 2020) เป็นอันดับ 1 ประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดประจำปี 2563 จากการจัดอันดับโดยสำนักข่าว US News (Best Countries to Start a Business 2020) และเป็นอันดับ 2 ประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประจำปี 2563 จัดอันดับโดยสำนักข่าว US News (Best Countries to Invest In 2020) ซึ่งสอดคล้องกับการจัดอันดับของสถาบันจัดอันดับเครดิตของโลกอย่าง มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่ BBB+ และยังคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
การจัดอันดับที่ดีเหล่านี้ เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักในการดำเนินนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในเรดาร์ เป็นตลาดที่น่าสนใจทางการลงทุน จนส่งผลให้คะแนนรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จัดทำโดยธนาคารโลกดีขึ้น โดยล่าสุดในปี 2563 ประเทศไทยได้ที่ 21 จาก 190 ประเทศ ซึ่งเทียบกับปีก่อนดีขึ้น 6 อันดับ รวมทั้งไทยได้ดำเนินมาตรการ Ten for Ten ตามข้อเสนอแนะจากเอกอัครราชทูตจาก 5 ประเทศ และหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยให้สามารถติด 10 อันดับแรกได้ในเร็ววันนี้
ในการนี้ โฆษกรัฐบาลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอันดับจากสถาบันจากประเทศญี่ปุ่น ดังนี้ การจัดอันดับของบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ที่คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ A- และยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) เนื่องมาจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหลังจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เริ่มฟื้นตัว และ JCR คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะกลับมาเติบโตประมาณร้อยละ 3 นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม ปี2564 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เช่นกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในแนวทางการดำเนินโยบายของรัฐบาลและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและเติบโต
นอกจากนั้น ไทยยังได้รับการจัดอันดับเกี่ยวกับด้านสาธารณสุขที่น่าชื่นชม อาทิ อันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด (Ongoing COVID-19 recovery effort 2020) จากข้อมูลดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (Global COVID-19 Index-GCI) จัดอันดับโดยสถาบัน PEMANDU และอันดับ 4 จากทั้งหมด 98 ประเทศ ที่จัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประจำปี 2563 (Best-Performing Countries in Suppressing the Coronavirus 2020) จัดอันดับโดยสถาบัน Lowy Institute อันดับ 6 ประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ ประจำปี 2562 (Global Health Security Index 2019) จัดอันดับโดยมหาวิทยาลัย John Hopkins University Research และอันดับ 8 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด ประจำปี 2564 (Health Care Index 2021) จัดอันดับโดย Numbeo Surve
ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินนโยบายโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญตลอดมา ซึ่งตัวเลขการจัดอันดับเหล่านี้เป็นหลักฐานประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลสำเร็จที่เกิดขึ้น โดยถือว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นกำลังใจที่สำคัญในการทำงาน และได้ขอบคุณการทำงานของทุกภาคส่วนที่ทำงานร่วมกันอย่างหนักจนส่งผลสำเร็จเป็นตัวเลขการจัดอันดับที่น่าชื่นชม และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่อไป