หลังจากที่ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO)ได้ขึ้นทะเบียนให้มวยไท่จี๋เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มกลับมาให้ความสนใจว่า มวยไท่จี๋(หรือที่คนไทยรู้จักในภาษาจีนแต้จิ๋วว่า มวยไท้เก็ก)ที่มีลักษณะการร่ายรำที่เชื่องช้า ที่คนส่วนมากมีภาพจำว่าเป็นกายบริหารของผู้สูงอายุในสวนสาธารณะนั้น เหตุใดถึงได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับนานาชาติ
ประวัติมวยไท่จี๋
มวยไท่จี๋นั้น มีตำนานกล่าวว่าท่านปรมาจารย์จางซานฟง(เตียซำฮง ในภาษาแต้จิ๋ว)นักพรตในยุคปลายราชวงศ์ซ่ง ได้คิดค้นขึ้นจากการเห็นการต่อสู้ของงูและนกกระเรียน แต่จากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์กลับพบว่ามวยไท่จี๋นั้นน่าจะเป็นวิชาที่ฝึกฝนกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่จางซานฟงได้เป็นผู้จัดระเบียบและพัฒนาตลอดจนถ่ายทอดสู่ศิษย์ และสืบทอดวิชาไปอีกหลายรุ่นจนถึงช่วงประมาณปลายราชวงศ์หมิงได้มีบุคคลชื่อ หวังจงเยว่ ที่อ้างว่าสืบทอดวิชามาจากจางซานฟง ได้ถ่ายทอดวิชามวยไท่จี๋นี้ไปยังศิษย์และทายาท จนกำเนิดเป็นมวยไท่จี๋หลากหลายสาย มวยไท่จี๋ตระกูลเฉิน มวยไท่จี๋สายเจ้าเป่า และมวยไท่จี๋สายฟู่ซาน ล้วนอ้างอิงการสืบทอดวิชามาจากหวังจงเยว่ทั้งสิ้น
มวยไท่จี๋นั้นได้สืบทอดกันภายในชุมชนมาอย่างยาวนานจนถึงยุคปลายราชวงศ์ชิง มีบุรุษผู้หนึ่งนามว่า หยางลู่ฉาน ได้อุทิศตนไปเรียนวิทยายุทธจากเฉินฉางซิงแห่งหมู่บ้านตระกูลเฉินอยู่สิบกว่าปี ภายหลังได้รับการแนะนำให้เข้าไปสอนในจวนของเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ท่านหนึ่ง มวยไท่จี๋ตระกูลหยางจึงได้เข้าสู่เมืองหลวงและเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ฝึกฝนวิทยายุทธตั้งแต่นั้นมา
หยางลู่ฉานมีบุตรที่สืบทอดวิชาอยู่สองคน คือ หยางปานโหว กับ หยางเจี้ยนโหว โดยหยางเจี้ยนโหวได้ถ่ายทอดมวยไท่จี๋ในวังจนถึงช่วงปลายราชวงศ์ชิง ต่อมาภายหลังเมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ศิษย์ผู้หนึ่งของหยางเจี้ยนโหวคือ หนิวชุนหมิง ก็ได้รับคำเชื้อเชิญจากท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลไปสอนมวยไท่จี๋ให้กับท่านประธานเหมาเจ๋อตงอีกด้วย
ภายหลังบุตรของหยางเจี้ยนโหว คือ หยางเฉิงฝู่ ได้ปรับปรุงท่ารำให้ง่ายต่อผู้เริ่มเรียน และถ่ายทอดมวยไท่จี๋ออกไปสู่สาธารณชน ศิษย์ผู้หนึ่งของหยางเฉิงฝู่ คือ ต่งอิงเจี๋ย ได้นำมวยไท่จี๋มาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญของกลุ่มคหบดีชาวไทย มวยไท่จี๋ตระกูลหยางสายต่งอิงเจี๋ยจึงเป็นที่นิยมฝึกฝนในประเทศไทยมานับแต่นั้น
อาจารย์วุฒินันท์ เชี่ยวพรหมคุณ ผู้สืบทอดสายตรงรุ่นที่ 4 จากท่านปรมาจารย์ต่งอิงเจี๋ย ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นว่า ”ในปีพ.ศ.2492 มีคหบดีชาวจีนจำนวน 7 ท่านได้ปรึกษาและลงขันกันเพื่อเชิญท่านต่งอิงเจี๋ยมาสอนในไทย โดยมีท่านหลินซิวอู้(หลิ่มซิวหงอ)เป็นหัวเรือใหญ่ ไปรอบแรกไม่พบท่าน ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนถึงจะเชิญสำเร็จ หลังจากท่านได้วางรากฐานที่ประเทศไทยแล้ว จึงได้มอบหมายให้ลูกชายคือ ต่งหู่หลิง แวะเวียนมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ที่ประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ”
และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่มาก ต่อมาภายหลังจึงมีลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในไทยอีกหลายท่าน ได้มีโอกาสไปร่ำเรียนมวยไท่จี๋สายต่างๆโดยตรงจากผู้สืบทอดมวยไท่จี๋สายตรงจากประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น สายที่เป็นแขนงของมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง เช่น สายหยางเส้าโหว สายเถียนเจ้าหลิน สายวังหย่งเฉวียน สายเจิ้งมั่นชิง ไปจนถึงมวยไท่จี๋ตระกูลอื่น เช่น มวยไท่จี๋ตระกูลอู๋ และมวยไท่จี๋ตระกูลอู่(ห่าว) เป็นต้น
หลักการของมวยไท่จี๋และวิธีการฝึกฝน
แม้มวยไท่จี๋จะมีอยู่มากมายหลากหลายสายให้ฝึกฝน แต่ทุกสายล้วนยึดหลักการเดียวกันคือ การใช้ปรัชญาอินหยาง(หรือที่คนไทยเรียกว่าหยินหยาง)มาเพื่อสร้างความสมดุลในการฝึกฝน อินหยาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงสองสิ่งคู่ตรงข้ามในทุกสภาวะของธรรมชาตินี้ จะมีปรากฎอยู่ในทุกกระบวนท่าและทุกระบบการฝึกของมวยไท่จี๋เพื่อปรับร่างกายให้เป็นธรรมชาติและมีความสมดุลในตัวเอง
ในเชิงท่าทางภายนอก อินหยางในมวยไท่จี๋ ปรากฏอยู่ในการฝึกรำ ที่ที่มีทั้งเร็ว-ช้า อ่อน-แข็ง กว้าง-แคบ สูง-ต่ำ เพื่อพัฒนาทักษะในแต่ละระดับที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของร่างกายและความชอบของผู้ฝึกฝน การฝึกรำช้าที่เห็นกันโดยมากแท้ที่จริงเป็น”ส่วนหนึ่ง”ของระบบการฝึกมวยไท่จี๋ที่เหมาะกับการสอนคนจำนวนมากโดยไม่เกิดอันตราย มวยไท่จี๋ยังมีการฝึกฝนเพื่อพัฒนาร่างกายในรูปแบบต่างๆอีกมาก เช่น มวยไท่จี๋ชุดย่งเจี้ย(用架)สายหยางเส้าโหวที่สืบทอดกันในเป่ยจิง(ปักกิ่ง)ก็มีลักษณะฉับไวปราดเปรียวดุดัน หรือ มวยไท่จี๋ฉางเฉวียน(太极藏拳)ที่สืบทอดกันในสายหยางเฉิงฝู่ก็มีลักษณะลื่นไหลเปิดกว้างโอ่อ่า เป็นต้น
ในเชิงหลักการภายใน อินหยางในมวยไท่จี๋สอนให้ผู้ฝึกฝนเข้าใจการทำอะไรอย่างคำนึงถึงความสมดุลและความพอดี ไม่กระทำการใดอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูซึ่งเป็นนิสัยของผุ้ที่ไม่รู้จักประมาณและขาดการขัดเกลาตนเอง มวยไท่จี๋จึงใช้หลักการเคลื่อนไหวเป็นทรงกลมมาในทุกกระบวนท่ารำ เพราะการเคลื่อนไหวของทรงกลมคือการเคลื่อนไหวอย่างสมดุลและเป็นอิสระ การร่ายรำมวยไท่จี๋ให้ได้ประโยชน์พึงระลึกถึงการแผ่ขยายและหดเข้าของร่างกายในลักษณะที่เป็นทรงกลม เสมือนร่างกายเป็นลูกบอลที่ขยายออกและหดเข้าจากแรงภายในที่เพิ่มขึ้นและลดลง
นอกจากประโยชน์ในทางการบริหารร่างกายแล้ว ผู้ฝึกฝนมวยไท่จี๋ในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยใช้มวยไท่จี๋เป็นกิจกรรมในการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจจากการทำงาน เช่นเดียวกับการฝึกสติของชาวพุทธ โดยในตำรามวยไท่จี๋ของจางซานฟงเองยังกล่าวไว้ว่า “สติให้สงวนไว้ภายใน”(神宜内歛-เสินอี๋เน่ยเหลี่ยน) ด้วยเหตุนี้การฝึกฝนมวยไท่จี๋ที่ถูกต้องนอกจากจะได้สุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นแล้ว จิตใจที่สงบจากการสร้างนิสัยให้อยู่ข้างใน ก็เป็นความสุขที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงินอีกด้วย
ปรัชญามวยไท่จี๋กับการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากมวยไท่จี๋เป็นวิทยายุทธจีนที่พัฒนาผ่านภูมิปัญญาของบูรพาจารย์จากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้มวยไท่จี๋มีคุณค่าในการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นวิญญูชน(君子-จวินจื่อ)ผู้ซึ่งพัฒนาตนควบคู่ไปกับการไม่ก่อโทษกับผู้อื่น
ในการฝึกฝนมวยไท่จี๋ จะมีระบบการฝึกฝนหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีในวิทยายุทธจีนชนิดอื่น คือ การผลักมือ(推手-ทุยโส่ว) ซึ่งเป็นการฝึกฝนเข้าคู่กับคู่ฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการเข้าใจแรง(懂劲-ต่งจิ้น)ในภาพรวม
เรี่มต้นด้วยทั้งสองฝ่ายยกมือขึ้นมาสัมผัสกัน รักษาหลักการ ไม่ทิ้งไม่ต้าน(不丢不顶-ปู้ติวปู้ติ่ง)ระหว่างเรากับคุ่ฝึก จากนั้นฝึกฝนการฟังแรง(听劲-ทิงจิ้น) คือการเรียนรู้การอ่านแรงของคู่ฝึกผ่านการสัมผัสมือ จากนั้นฝึกฝนการสลายแรง(化劲-ฮว่าจิ้น)คือการเบี่ยงเบนแรงที่กระทำเข้ามาของคู่ฝึก ต่อจากนั้นจึงจับแรง(拿劲-หนาจิ้น)เพื่อควบคุมและชักนำไปในทิศทางที่เหมาะสม จากนั้นจึงปล่อยแรง(发劲-ฟาจิ้น)เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งผลจากกการฝึกฝนที่ถูกตามลำดับที่กล่าวมาจะทำใช้สี่ตำลึงเคลื่อนพันชั่ง(四两拨千金-ซื่อเหลี่ยงปัวเชียนจิน)หมายถึงการใช้แรงน้อยชนะแรงมากได้
โดยถ้าเข้าใจและทำตามหลักการเหล่านี้ได้ การฝึกฝนผลักมือจะเป็นไปเพื่อการฝึกฝนเพื่อขัดเกลานิสัยเก่าและพัฒนานิสัยใหม่ของผู้ฝึกฝนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สุขุม รอบคอบ และรู้จักการพิจารณาไตร่ตรองภาพรวมมากยิ่งขึ้น เช่น
ในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ในการทำงาน การใช้หลักไม่ทิ้งไม่ต้าน(不丢不顶-ปู้ติวปู้ติ่ง) คือการมีระยะของความสัมพันธ์ที่เหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญมาก การห่างเหินจนเกินไป อาจเป็นผลเสียไม่ต่างจากการก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวกันจนเกินไป
ในการทำธุรกิจส่วนตัวหรือในการแข่งขันในสถานการณ์อื่นๆ ก็สามารถใช้หลัก การอ่านสถานการณ์ภาพรวมให้ออก(听-ทิง) การไม่เข้าไปปะทะตรงๆกับคู่แข่งที่มีกำลังมากกว่า(化-ฮว่า) การเกาะติดควบคุมสถานการณ์ของอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียศูนย์(拿-หนา) และการโจมตีให้อีกฝ่ายถอยหนี(发-ฟา) มาใช้ประยุกต์ได้
ในการประเมินศักยภาพในการทำงาน ตัวชี้วัดความโดดเด่นของพนักงานคือการทำงานได้ด้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเพื่อนร่วมงาน ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจคือการมีผลประกอบการสูงกว่าต้นทุนที่ลงไป ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ต่างก็ต้องอาศัยการเข้าใจในเรื่อง สี่ตำลึงเคลื่อนพันชั่ง(四两拨千金-ซื่อเหลี่ยงปัวเชียนจิน) คือการฉลาดในการใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่น้อย กระทำการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มาก
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ การฝึกฝนการผลักมือในมวยไท่จี๋ จึงมีอรรถประโยชน์สูงมากหากฝึกฝนภายใต้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดอ่าน นิสัยใจคอ ไปจนถึงมุมมองต่อเรื่องต่างๆได้มาก แต่หากตั้งเป้าไว้ที่การเป็นผู้ชนะในการฝึกฝนผลักมือ การฝึกฝนผลักมือก็จะไม่ได้อะไรมากกว่ากีฬาชนิดอื่น เพราะผู้ฝึกฝนก็จะได้เพียงกำลังที่มากขึ้นโดยไม่ได้พัฒนาทักษะการพินิจพิเคราะห์ไปตามช่วงเวลาที่ฝึกฝนแต่อย่างใด
มวยไท่จี๋กับการปรับตัวในโลกยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันมวยไท่จี๋ถูกตั้งคำถามจากผู้ฝึกฝนวิทยายุทธอยู่มากว่า สามารถใช้ในการป้องกันตัวได้อย่างไร แล้วเราจะฝึกฝนมวยไท่จี๋ไปทำไมในโลกยุคปัจจุบัน ประเด็นนี้นี้เราต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปว่า มวยไท่จี๋นั้น เป็นวิชาที่พัฒนามาจากนักพรตที่ฝึกฝนวิทยายุทธเพื่อบริหารร่างกายและป้องกันตนเองจากโรคภัยและโจรภัย
วัตถุประสงค์ตั้งต้นของวิชานี้จึงมิใช่วิชาเพื่อการต่อสู้ทำลายล้าง แต่เป็นเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันตัว ซึ่งหากใครเคยฝึกฝนศิลปะการต่อสู้มาอย่างหลากหลาย ก็จะเข้าใจว่าการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้นั้น การฝึกฝนเพื่อป้องกันตัว(self-defense)ก็ยังมีความแตกต่างกับการฝึกทักษะการต่อสู้(combat skill) เหมือนตะเกียบกับช้อนที่ทำหน้าที่ต่างกันแต่ก็มีจุดที่เป็นประโยชน์เกื้อหนุนกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากหากเรารู้จักใช้ประโยชน์จากทั้งสองสิ่งแทนที่จะเปรียบเทียบว่าสิ่งใดดีกว่ากัน ด้วยเหตุนี้ในประเทศไทยจึงมีผู้ที่สนใจนำมวยไท่จี๋ไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆกัน ยกตัวอย่างเช่น
อาจารย์ณัทพัชรพงษ์ กัณทะเสน ครูฝึกและผู้สืบทอดวิชามวยไทยและอาวุธไทยโบราณ ได้ฝึกฝนมวยไท่จี๋ตระกูลหยางสายวังหย่งเฉวียนด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมเองสนใจวิทยายุทธจีนมานาน ภายหลังได้มีโอกาสเรียนมวยไท่จี๋ จึงได้เข้าใจเรื่องเเรงภายใน วิธีสร้างแรงและการนำไปใช้ โดยอาจารย์ผู้สอนอธิบายให้เข้าใจง่ายเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลังจากฝึกฝนได้สักระยะก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิชาที่ฝึกอยุ่ก่อน คือ วิชาดาบไทยกับ มวยไทย เพราะสามารถใช้พลังได้ดีขึ้น มีความแรงขึ้นและคมขึ้น ในทางกายภาพนั้น เส้นเอ็น, ข้อต่อ และกล้ามเนื้อจากที่เคยได้รับบาดเจ็บจากการฝึกหนัก กลับทุเลาเบาบางลงอย่างน่าอัศจรรย์ จึงมีความสุขกับการเรียนวิทยายุทธจีน และจะฝึกฝนต่อไป
“นอกจากนี้ผู้ฝึกฝนวิทยายุทธร่วมสมัยอย่างคุณพูนศักดิ์ ธนพันธ์พานิช เทรนเนอร์จากสมาคมAECผู้มีประสบการณ์ในการฝึกฝนวิชาการต่อสู้ทั้งตะวันออกและตะวันตกหลากหลายชนิดยังกล่าวว่า ”นักกีฬานั้นเมื่อผ่านการฝึกมาอย่างต่อเนื่องความอ่อนล้าสะสมนั้นจะมีสูงมากทั้งในกล้ามเนื้อและระบบประสาท ซึ่งความช้า เบา สงบ และผ่อนคลายจากการฝึกไทจี๋นี้ สามารถช่วยทำพัฒนาการทำงานระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic) เพื่อพื้นฟูร่างกายและระบบประสาทอย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การฝึกช้าๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบฝึกในมวยไท่จี๋ ไม่ว่าจะด้วยชุดรำมวยหรือการเข้าคู่ฝึกผลักมือ ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมาธิ ทักษะการควบคุมสมดุลย์ภายในร่างกาย รวมไปถึงความประณีตละเอียดอ่อนในการใช้กำลังของตนเอง อีกด้วย”
ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาที่ให้การสนับสนุนมวยไท่จี๋มาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดย ผศ.ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้บรรจุมวยไท่จี๋และวิทยายุทธจีนไว้ในวิชาพลศึกษาที่นักศึกษาวิชาพละทุกคนต้องเรียน โดยในทุกปีจะมีนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติเรียนรู้วิชามวยไท่จี๋ปีละกว่า 400 คน โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า “มวยไท่จี๋ เป็นการกิจกรรมที่เกิดประโยชน์หลายด้าน ประโยชน์โดยตรงคือเรื่องสุขภาพ และด้วยหลักปรัชญาพื้นฐานของมวยไท่จี๋ ที่เน้นความสมดุลทั้งร่างกายจิตใจ จึงเป็นพื้นฐานไปสู่ความเข้าใจปรัชญาจีนเรื่องอินหยางของจีน ส่วนประโยชน์โดยอ้อมคือ นักศึกษาไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรมจีนร่วมกับนักศึกษาจีน ได้ใช้มวยไท่จี๋เป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับทั้งสองประเทศด้วย”
มวยไท่จี๋กับการต่อยอดในอนาคต
ด้วยความลึกซึ้งและอรรถประโยชน์ดังที่ได้เห็นประจักษ์นี้ จึงเป็นเหตุผลที่มวยไท่จี๋ได้รับการยอมรับจากUNESCOให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
แม้ในยุคนี้ การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมีความจำเป็นน้อยลง แต่ในโลกที่ผันผวนวุ่นวายด้วยภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ การฝึกฝนศาสตร์ที่พัฒนาร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ไปพร้อมๆกันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจในการพัฒนาตนเอง
มหาวิทยาลัยUCLAเคยทำวิจัยเรื่องมวยไท่จี๋ว่ามีประโยชน์ต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ โดยมีความแตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้ฝึกอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยปัจจุบันนี้ ก็มีบุคคลจากหลากหลายอาชีพ ได้ใช้หลักมวยไท่จี๋ไปหลอมรวมและประยุกต์ใช้ในการทำงานของตน ตัวอย่างเช่น
ผู้บริหารระดับสูงบางท่านใช้หลักไท่จี๋ในการบริหาร เช่น เมื่อไรที่องค์กรมีความเฉื่อยชา(อิน)ก็กระตุ้น(หยาง) เมื่อไรที่องค์กรมีความวุ่นวาย(หยาง)ก็ผ่อนคลาย(อิน) เมื่อองค์กรมีความสมดุลแล้วก็ไม่
กระทำการใด(无为-อู๋เหวย)
ผู้ที่มีความเครียดทางร่างกายจากการทำงานก็ใช้การผ่อนคลายร่างกาย(放松-ฟั่งซง) และตั้งมั่นสงบสบาย(中正安舒-จงเจิ้งอันซู)ของมวยไท่จี๋ในการผ่อนคลายร่างกายจากความตึงเครียด
นักเปียโนและนักไวโอลินมืออาชีพ ใช้หลักเรื่องการเข้าใจแรง(懂劲-ต่งจิ้น)ของมวยไท่จี๋ในการผสานตนเองเป็นหนึ่งกับเครื่องดนตรีและส่งแรงผ่านเครื่องดนตรีนั้น ทำให้การเล่นดนตรีมีความเป็นธรรมชาติ เครื่องดนตรีกับผู้เล่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนสามารถส่งผ่านความรุ้สึกผ่านเครื่องดนตรีได้อย่างไม่ตกหล่น
มวยไท่จี๋เป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่คู่ควรส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง
โดย:อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล
ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย)