เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ฉลองอายุ 31 ปี #กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ด้วยภาพของหนึ่งในดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกาแล็กซีทางของเรา ครบรอบ 31 ปี แล้ว สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2533 โคจรรอบโลกไปแล้วกว่า 181,000 รอบ มีนักดาราศาสตร์ใช้ศึกษาวัตถุอวกาศมากถึง 1.5 ล้านครั้ง และรวบรวมข้อมูลของวัตถุอวกาศได้อย่างล้นหลาม เป็นส่วนสำคัญในงานวิจัยกว่า 18,000 ฉบับ และเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในครั้งนี้ นักดาราศาสตร์จึงควบคุมให้กล้องหันไปยังดาวฤกษ์ “AG Carinae” เพื่อถ่ายภาพหนึ่งในดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก ดังแสดงให้เห็นในภาพประกอบ AG Carinae เป็นดาวฤกษ์มวลมากขนาดใหญ่ ห่างจากโลกประมาณ 20,000 ปีแสง อยู่ภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 70 เท่า และส่องสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 1 ล้านเท่า บริเวณโดยรอบดาวฤกษ์ AG Carinae ห้อมล้อมไปด้วยแก๊สและฝุ่นส่องสว่างเป็น “Halo” ที่มีวงกว้างถึง 5 ปีแสง (เท่ากับระยะจากโลกถึงดาว Proxima Centauri ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุด) นักดาราศาสตร์คาดว่า Halo ขนาดมหึมานี้เกิดจากการปะทุอย่างรุนแรงเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ดาวฤกษ์จึงปลดปล่อยมวลสารออกมา ซึ่งแก๊สและฝุ่นเหล่านี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า โดยทั่วไปดาวฤกษ์มวลมากจะมีอายุขัยเพียงไม่กี่ล้านปี (อายุขัยของดวงอาทิตย์ประมาณ 10,000 ล้านปี) ในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของดาวฤกษ์มวลมากจะเกิดการปะทุอย่างรุนแรง 1-2 ครั้ง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างแรงดันจากการแผ่รังสีที่พยายามผลักให้ดาวขยายตัวออก และแรงโน้มถ่วงที่พยายามยุบตัวดาวลง หากแรงดันการแผ่รังสีมีกำลังมากกว่า ดาวจะขยายตัวและปะทุอย่างรุนแรง จากนั้นดาวจะหดตัวและกลับมาสงบนิ่งอีกครั้ง นักดาราศาสตร์เรียกดาวแปรแสงประเภทนี้ว่า “Luminous Blue Variable” AG Carinae จัดเป็นดาวแปรแสงสีน้ำเงินที่ยังไม่เสถียร สามารถขยาย-หดตัวและปะทุออกมาได้เสมอ แต่อาจไม่รุนแรงเท่ากับครั้งก่อน ๆ มีการแผ่รังสีและปลดปล่อยลมดาวฤกษ์ออกมาอย่างมหาศาล พุ่งออกมาด้วยความเร็วกว่า 1 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อปะทะเข้ากับมวลสารที่ปะทุออกมาก่อนหน้า จึงผลักให้แก๊สและฝุ่นเหล่านั้นขยายตัวออกไปและเกิดเป็นโครงสร้างภายในกลุ่มแก๊สดังแสดงในภาพประกอบ ภาพนี้ถ่ายในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตและช่วงคลื่นที่ตามองเห็นจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล พื้นที่เรืองแสงสีแดง คือแก๊สไฮโดรเจนและไนโตรเจน พื้นที่สีฟ้าขาว คือกลุ่มฝุ่นที่สะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ ช่วยให้เห็นรายละเอียดรูปร่างของกลุ่มแก๊สได้อย่างชัดเจน ดาวแปรแสงสีน้ำเงินเช่น AG Carinae เป็นดาวฤกษ์ชนิดหายาก ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวประเภทนี้ได้น้อยกว่า 50 ดวง ดังนั้นการศึกษาดาวฤกษ์ประเภทนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการและจุดจบของดาวฤกษ์ได้ดียิ่งขึ้น เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../hubble-captures-giant-star-on...