น.ส.พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย(Krungthai COMPASS) ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปี 2564 ลดลงเหลือ 0.8%-1.6% เทียบกับประมาณการที่ 2.5% กรณีไม่มีการระบาดระลอก 3 ทั้งนี้ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจสูงถึง 4.0-5.8 แสนล้านบาท โดยการระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือน เม.ย. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน มีการแพร่กระจายไปยังหลายคลัสเตอร์ทั่วประเทศ จนเป็นการยากที่จะควบคุมให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.3% ( ณ วันที่ 18 พ.ค.) และกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ทำให้จำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ สมมติฐานในกรณีฐาน (Base case) คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) และอาจจะกระทบเศรษฐกิจยาวนานถึง 5 เดือน (เม.ย.-ส.ค.) เป็นกรณีแย่ (Worse case) ก่อนสถานการณ์จะทยอยคลี่คลายได้อย่างช้าๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ อุปสงค์ในประเทศกระทบมากในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยจากการประเมินในกรณีฐาน คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะเสียหายประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือราว 0.9% ต่อจีดีพี และในกรณีเลวร้าย อุปสงค์ในประเทศอาจหายไปถึง 2.3 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของจีดีพี นอกจากนี้ การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดยังได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค และส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานให้เปราะบางมากขึ้น ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอาจหายไปมากกว่า 1 ใน 3 ตามแผนการเดินทางและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่ต้องล่าช้าออกไป เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ 115.2 ล้านคน-ครั้ง โดยประเมินจากกรณีฐาน คาดว่า การระบาดระลอกล่าสุดจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวราว 4 เดือน กดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ 81.2 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1.8 แสนล้านบาท ยิ่งกว่านั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศลากยาวไปกว่าที่ประเมินไว้ (ในกรณีเลวร้าย) คาดว่าจะกระทบแผนการท่องเที่ยวลากยาวไปถึง 5 เดือน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 72.6 ล้านคน-ครั้ง และสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2.3 แสนล้านบาท โดยนโยบายการเปิดประเทศอาจล่าช้า ส่งผลให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งก็จะส่งผลให้ภาคบริการยังมีแนวโน้มซบเซาต่อไป นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ (B.117) และสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ในหลายประเทศ ทำให้แผนการเปิดประเทศต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและรัดกุมมากขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่ได้ประกาศ Lockdown อีกอย่างน้อย 1 เดือนหลังพบการระบาดระลอกใหม่ แม้ประชาชนในประเทศจะได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสแล้วกว่า 33.6% โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 อาจเหลือเพียง 1-5 แสนคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1 แสนคน-2.4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจถึง 0.9-1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หนุนมูลค่าการส่งออกโดยรวม โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวได้ตามคาด ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อมูลค่าส่งออกของไทย (รูปที่ 3) สะท้อนจากส่งออกในไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมทองคำ) ส่วนประเด็นเรื่องการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าคาดว่าได้ผ่านพ้นจุดวิกฤตไปแล้วจากการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าเรือไทยได้ เช่นเดียวกับการหมุนเวียนตู้สินค้าในต่างประเทศที่มีทิศทางดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทั้งนี้ Krungthai COMPASS จึงได้ปรับประมาณการส่งออกในปี 2564 ขยายตัว 8.5% ดีกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 6.0% อย่างไรก็ตามความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ที่คาดว่าอาจสูงถึง 4.0-5.8 แสนล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินจาก พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ก็เหลือน้อยกว่าครึ่งของมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการขอรับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม ดังนั้น Krungthai COMPASS มองว่าการเตรียมพร้อมของรัฐบาลโดยการออก พรก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาทในช่วงนี้ มีความจำเป็น เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไม่ติดขัด ทั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ประกอบการอีกด้วย ทั้งนี้ การระดมเงินด้วยจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการตึงตัวในตลาดการเงิน เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบปัจจุบันมีค่อนข้างมาก เห็นได้จากปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นถึงราว 6 แสนล้านบาทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา