นักวิชาการคนดังชี้แต่ละปีก็ได้น้อยอยู่แล้วยังถูกหั่นมากที่สุดอีก ขณะงบฯป้องกันประเทศปรับลดแค่เล็กน้อย สวนทางการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ งบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ปี 65 วิกฤติ!! ถูกหั่นมากสุดและต่ำสุดในรอบ 5 ปี!! เติบโตแบบไม่ยั่งยืน!! #Environment #Crisis #UnsustainableDevelopment
หลายท่านคงได้ทราบข่าวการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของประเทศปี 2565 กันแล้วนะครับ ส่วนใหญ่ถูกตัดงบประมาณกันถ้วนหน้า เข้าใจว่างบประมาณคงมีจำกัดในปี 65 แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ งบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ปี 65 นับว่าวิกฤติมาก ถูกหั่นลดลงจาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาทในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 0.275 ของงบประมาณรายจ่ายรวม ลดลงถึง 47.14% เมื่อเทียบกับงบด้านอื่น นับว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี!
ขณะที่งบการป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในถูกปรับลดเพียง 6.02% และงบการบริหารทั่วไปของรัฐถูกปรับลดเพียง 0.48% เป็นต้น งบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมแต่ละปีมีไม่มากอยู่แล้ว แต่กลับถูกตัดมากที่สุด ยังบ่งชี้ให้เห็นว่างบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละปีมีความผันผวนมากเมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องชั่วคราว เลยแก้ไขเป็นครั้งคราวไป ให้ความสำคัญน้อยกับการแก้ไขปัญหาแบบต่อเนื่อง
เราแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันดีแล้วใช่หรือไม่? พอใจแล้วใช่หรือไม่? หากมาดูการการจัดอันดับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในระดับนานาชาติปี 2563 โดย Yale University ซึ่งได้จัดทำดัชนีชี้วัดศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ภาพรวมสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่อันดับ 78 จาก 180 ประเทศ (อันดับ 1 คือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีที่สุด ขณะที่ อันดับ 180 คุณภาพสิ่งแวดล้อมแย่ที่สุด ) ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (GDP) ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 23 ของโลก สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ไทยเรายังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากที่ต้องแก้ไข อาทิ เรื่องคุณภาพอากาศโดยรวมไทยอยู่อันดับที่ 85 ของโลก มลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอยู่อันดับที่ 102 จาก 180 ประเทศ การอนุรักษ์ระบบนิเวศและบริการของระบบนิเวศอยู่อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 114 จาก 180 ประเทศ เป็นต้น เราพอใจแล้วใช่หรือไม่?
สิ่งแวดล้อมจัดเป็นสินค้าที่กลไกตลาดมักเกิดล้มเหลวในเชิงเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ใช้ บทบาทของภาครัฐในการปกป้อง ฟื้นฟู และพัฒนาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ได้เวลาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมบ้างหรือยัง? หรือต้องเปลี่ยนชื่อ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็น “แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ผู้กำหนดนโยบายถึงจะเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาประเทศไทยเราอย่างยั่งยืนนะครับ
สำนักงบประมาณ. https://www.bb.go.th/topic3.php?gid=860&mid=544
2020 Environmental Performance Index (EPI). https://epi.yale.edu/epi-results/2020/component/ape