ผวจ.นครศรีธรรมราช นำรูปปั้น“พลายจำเริญ”ช้างสำคัญของเมืองกลับคืนมาตั้งที่ฐานคชานุสรณ์ หลังถูกรื้อไปวางทิ้งไว้เกือบ 2 ปี – เผยเป็นช้างสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเมืองนคร เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องนำรูปปั้น “พลายจำเริญ” ซึ่งเดิมทีตั้งอยู่บนฐาน “คชานุสรณ์” หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังเก่ามายาวนานเกือบ 100 ปี แต่ได้ถูกนำออกและเคลื่อนย้ายไปไว้ที่บริเวณชายคาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังเก่าเมื่อราวเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสมัยครั้งนายศิริพัฒ พัฒกุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกทิ้งไว้ในจุดดังกล่าวเรื่อยมา โดยไม่มีใครทราบเหตุผล แต่หลังจากที่นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากนั้นนายไกรศร ได้เดินทางมาดำรงตำแหน่ง และได้เข้าพักในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเดิม อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเดิมยังมีเรือนรับรอง ที่ถูกเรียกว่าพระตำหนักเลียบเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเรือนประวัติศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมเมื่อวันที่ 13-16 มีนาคม 2502 ซึ่งฐานคชานุสรณ์ พร้อมรูปปั้นพลายจำเริญ เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ในพื้นที่เสด็จในคราวนั้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยหลังจากที่ถูกโยกย้ายไปไว้ในที่ไม่สมควรมากว่า 1 ปี ในที่สุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยข้าราชการ ได้ร่วมกันเคลื่อนย้ายรูปปั้นพลายจำเริญ นำมาจัดวางไว้ที่เดิม พร้อมทั้งนำปืนใหญ่โบราณ 2 กระบอกมาตั้งไว้ที่เดิมตามภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งบูรณะพื้นที่ฐานอย่างเรียบร้อยสวยงาม สำหรับพลายจำเริญนั้น มีการศึกษาข้อมูลและหลักฐานตามหลักฐานกล่าวถึงพลายจำ เริญว่า เป็นช้างที่มีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์ “ช้างเนียม” ซึ่งเป็นช้างศึก หรือช้างที่ใช้ในราชการสงคราม อาจารย์นะมา โสภาพงษ์ ปราชญ์เมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุไว้ในเอกสารการศึกษา ซึ่งถุกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช ว่าช้างเนียม “มีลักษณะเป็นมงคล ที่เป็นช้างสำคัญ คือ มีกายดำ นิลเล็บดำ ขนทวน และมีหางเป็นพวงยาวกวาดดิน” และลักษณะนี้ได้ตรงกับในหนังสือ “พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์” ได้อธิบายลักษณะของช้างเนียมไว้ต้องตรงกันอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบประวัติของพลายจำเริญ ที่บันทึกไว้โดย พระปลัดเลี่ยม อาสโย (เลี่ยม นาครภัฏ) ซึ่งได้บันทึกไว้ที่ฐานคชานุสรณ์ว่าพลายจำเริญ เป็นช้างของตระกูล ณ นคร (ตระกูลเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) มีชีวิตอยู่ปลายรัชกาลที่ ๑ถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านขุนอาเทศคดีคนเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า ช้างเชือกนี้น่าจะถือกำเนิดในใบบุญของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พร้อม หรือ หนูพร้อม) ตกจากท้องแม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ มีอายุถึง พ.ศ.๒๔๐๔ เมื่อเอ่ยชื่อใครๆก็รู้ว่าเป็นช้างที่รู้ภาษามนุษย์ แสนรู้ ชาญฉลาด เป็นยอดช้างของเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาเกี่ยวข้องกับการพาช้างพลายจำเริญ หลบหนีจากการเมืองส่วนกลางที่หาเหตุไม่ต้องนำช้างสำคัญเข้าสู่เมืองหลวง ช้างพลายจำเริญได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในพื้นที่ต่างๆของเมืองนครเพื่อหลบเลี่ยงข้าราชการจากเมืองหลวงที่มาตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ให้มีคนจากเมืองหลวงพบเห็น เพื่อไม่ต้องนำพลายจำเริญส่งไปถวายนั่นเอง