เมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการแถลงข่าวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 บทบาทความเป็น ‘ครู’ ในยุคโควิด 19 โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมแสดงความยินดีแก่ครูผู้ได้รับรางวัล
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีกำหนดพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ซึ่งครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2564 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
1. สอนวิชาศิลปะการประกอบอาหาร ที่ School of Hospitality and Tourism, IBTE Sultan Saiful Rijal Campus สายอาชีพ มีประสบการณ์และทักษะการสอนกว่า 20 ปี เป็นผู้นำในการจัดหลักสูตรการปรุงอาหารและการบริการแบบมืออาชีพ จัดทำหลักสูตรการบริหารจัดการอาหารแบบครบวงจร
ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม - เปอจีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด จาฮับ บิน เปอจีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์
2. สอนระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียน Quach Mengly Toulbeng, จังหวัด Kampong Cham เริ่มใช้การบูรณาการการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางและทำวิจัยในชั้นเรียนโดยให้ความสำคัญกับทักษะและการแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นสำคัญ
ราชอาณาจักรกัมพูชา -นายณอน ดารี
3. สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 32 Bandar Lampung จังหวัด Lampung นับเป็น“Resource Person”ในการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรม “Webinar”จากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย -น.ส.คอรีอิยะฮ์
4. นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด หัวหน้าวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมัธยมศึกษาอุดมไซ (Oudomxay) สอนวิชาฟิสิกส์และพัฒนาหลักสูตรการสอนในระดับ ม.ปลาย และเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอีก 14 แห่งที่เมืองไซ (Xay) เป็นวิทยากรระดับจังหวัดในวิชาวิทยาศาสตร์และมีงานเขียนเอกสารทางวิชาการ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว- นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด
5. สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนมัธยมศึกษา SMK Jerlun รัฐเคดาห์ ครูต้นแบบการสอน STEM ศึกษาระดับประเทศ ได้รับการเสนอให้เป็น “Master Trainers for Inquiry-Based Science” ในระดับประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสอนแบบบูรณาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ประเทศมาเลเซีย -นายโนฮ์ฮาอิลมี อับดุล มูตาลิบ
6. ครูผู้ช่วยสอนอาวุโส (Senior Assistant Teacher) และสอนภาษาอังกฤษ ที่ No.8 Basic Education Middle School เมืองลาโชว์ รัฐฉาน ได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับโรงเรียน และรางวัล Outstanding Teacher Award ระดับรัฐ
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา – นาย จอร์ ชิน ออง
7. หัวหน้าครูในระดับพื้นที่ 5 โรงเรียน Governor Bado Dangwa Agro-Industrial, Kapangan, Benguet ผู้ประสานงานเก็บรวบรวมเอกสารคลังข้อมูลชนพื้นเมือง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนในหลายบริบท
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายมาเซโล ทีโอทินเควท
8. หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษและสังคม โรงเรียนประถมศึกษา Yu Neng นำ ICT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บูรณาการการคิดและวิเคราะห์ การใช้ Coding และมีการทำแผนภาพการใช้ ICT บูรณาการกับโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน
สาธารณรัฐสิงคโปร์ นายหยก จูน เม็ง
9. ผู้อำนวยการและสอนภาษาอังกฤษ–โปรตุเกส โรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau (The Central Basic School of Tirilolo Baucau Vila) มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกีฬาในโรงเรียน และการฝึกอบรมครูและนักเรียนของประเทศ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต นายวีเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา
10. สอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Huong Can จังหวัด Phu Tho พัฒนาการเรียนการสอนแบบห้องเรียนไร้พรมแดนให้เด็กนักเรียนบนพื้นที่สูงและเด็กชนเผ่า และบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษเข้าไปในการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม น.ส.ฮ่า หัน เฟื่อง
11. สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ประเทศไทย – น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ โดยครูที่ได้รับรางวัลคุณากร ปี 2564 จำนวน 3 ราย คือ น.ส.กล่อมจิต ดอนภิรมย์ ร.ร.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ครูผู้เติมเต็มศักยภาพให้แก่ลูกศิษย์ที่หลากหลายวิธี โดยเชื่อว่าทุกคนเป็นดาวเด่นในตัวเอง นางสุมิตรา กลิ่นบุบผา ร.ร.บ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร แม่ครูที่ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์อ่านออกเขียนได้ และไม่เคยทอดทิ้งนักเรียนและชุมชน และนายสิทธิชัย จันทร์คลาย ร.ร.บ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ครูผู้ใช้ศิลปะเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์สู่การพัฒนาความถนัดของผู้เรียน
ทั้งนี้ สามารถดูรายชื่อครูที่ได้รับการคัดเลือกได้ที่ เว็บไซด์ www.PMCA.or.th
(ข้อมูลจากเพจศธ.360 องศา)