ครูแก้ว ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทน จับมือ อบจ. ภาคเอกชน หน่วยงานเกษตร ลงพื้นที่รับทราบปัญหา ระดมทุนตั้งกองทุนนำร่อง 4 แสนบาท ช่วยซื้อสับปะรด ทำการตลาด ระบายผลผลิตออกสู่ตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ กิโลกรัมละ 4 บาท จาก 15 บาท หนำซ้ำยังล้นตลาด จากพิษโควิด ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ตั้ง ส.อบจ. พื้นที่ 12 อำเภอ ทำหน้าที่พ่อค้า ช่วยรับซื้อสับปะรดส่งขายตลาด บรรเทาความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่จุดรับซื้อสับปะรด ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ และ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 พร้อมด้วย นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นายแพทย์อลงกต มณีกาศ นายชูกัน กุลวงษา รอง นายก อบจ.นครพนม ร่วมกับ ตัวแทนภาครัฐ หน่วยงานเกษตร ตัวแทนภาคเอกชน ลงพื้นที่ รับทราบปัญหาความเดือดร้อน ของชาวสวนสับปะรด ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน และ อ.โพนสวรรค์ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูการเก็บผลผลิต อีกทั้งยังเป็นสับปะรดขึ้นชื่อ ผลผลิตการเกษตรสินค้า GI ชื่อดังที่มีรสชาติอร่อย หวานฉ่ำ ที่เคยส่งขายทั่วประเทศ แต่ในปีนี้ ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ล้นตลาด จากพิษโควิดระบาด จากราคาขายกิโลกรัมละประมาณ 15 -20 บาท เหลือราคา 4 -5 บาท สร้างความเดอืดร้อนให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย ต้องนำไปทิ้งทำปุ๋ยหมัก โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากกกว่า 7,000 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงนี้ วันละ กว่า 30 -40 ตัน สร้างความเดอืดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ทางด้าน นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ได้เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ได้วางแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้น ด้วยกา ระดมทุนส่วนตัว ร่วมกับ ภาครัฐ อบจ.นครพนม ส.อบจ.นครพนม หน่วยงานเกษตร รวมถึงตัวแทนภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดนครพนม และตัวแทนเกษตรกร นำร่องตั้งกองทุนไว้รับซื้อช่วยเหลือระบายผลผลิตออกสู่ตลาด เป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท โยจะมีการรับซื้อช่วยเกษตรกรในราคาประมาณกิโลกรัมละ 4 – 5 บาท เพื่อให้ผลผลิตได้ระบายออกสู่ตลาด แทรกแซงพ่อค้าคนกลาง ให้ผลผลิตที่ป้อนตลาดลดลง จะได้ราคาเพิ่มขึ้น จากนั้น จะมอบหมาย ให้ ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 12 อำเภอ เป็นเหมือนพ่อค้า รับซื้อนำไปกระจายขายในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน รวมถึง ประสานส่งขายไปยัง พ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่ และนำเงินหมุนเวียนกลับมารับซื้อเช่นเดิม ไม่ให้เงินกองทุนสูญเปล่า และสามารถมีเงินหมุนเวียนซื้อขายได้ตลอด ไม่เน้นแจกฟรี เบื้องต้นนำร่องจัดซื้อไปจำหน่าย จำนวน 15 ตัน และจะหมุนเวียนจัดซื้อจนกว่าผลผลิตจะหมดฤดูกาล นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะได้หารือกับทาง อบจ.นครพนม หน่วยงานภาคเกษตร วางแนวทางการส่งเสริมการปลูก ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของตลาดป้องกันปัญหาการล้นตลาด รวมถึง การวางแผน ประสานหน่วยงานเอกชน รวมถึงกลุ่มอาชีพในพื้นที่ จัดตั้งโรงงานแปรรูป สับปะรด ให้รองรับการผลิตของเกษตรกร ไม่ให้เกิดปัญหาล้นตลาด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิดไม่ส่งผลกระทบ จะไม่เกิดปัญหา และสามารถส่งสับปะรดขายสู่ออกตลาดได้ทั้งหมด แต่เมื่อเกิดปัญหาจะต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการช่วยกันกระจายสินค้าออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น ส.อบจ. ผู้บริหาร อปท. ทุกแห่ง จะต้องช่วยกันผันตัวเป็นพ่อค้า แม่ค้า มาช่วยรับซื้อไปกระจายขายในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด