ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การปลูกต้นไม้ไม่เพียงแต่ต้องมี “ใจรัก” แต่ต้องมี “จินตนาการ” และ “วิทยาการ” ที่พอเพียงด้วย
ผมชอบไป “แอบดู” น้ามัยที่ “อาศรม” หรือที่พักท้ายสวน จึงพบว่านี่คือ “สวรรค์น้อย ๆ” แห่งหนึ่งบนโลกนี้ ตัวเรือนหลังเล็ก ๆ ขนาดสัก 2 คูณ 3 เมตร มองดูเหมือนเรือนแพเพราะปลูกอยู่ในน้ำที่ริมลำคลอง เพียงแต่ว่าไม่ได้วางอยู่บนแพลูกบวบ แต่ทำเป็นเสาสี่เสาปักลงไปในน้ำ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงพอสมควร แล้วทำโครงวางพื้นด้วยคานไม้ ปูแผ่นไม้เป็นพื้นบ้านและฝากระดาน หลังคาเป็นกระเบื้องลอนสีมอ ๆ สภาพดูเก่ามากแต่ไม่ถึงกับโทรม มีห้องเพียงห้องเดียว มีหน้าต่างเพียง 2 บาน ด้านหลังและด้านขวา เพราะด้านซ้ายติดห้องสุขาที่ตั้งอยู่บนตลิ่ง ส่วนด้านหน้าที่หันลงน้ำก็เป็นประตูขนาดเล็ก ๆ เหมือนกับว่าสร้างขึ้นเพื่อให้ตัวของน้ามัยซึ่งเป็นคนตัวผอม ๆ เข้าไปอยู่ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ตรงพื้นด้านหน้าที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านสักเมตรครึ่งนี่เอง ที่เป็น “ลานกิจกรรม” ทุกอย่าง ตั้งแต่หุงหาอาหาร ทานข้าว พักผ่อน ไปจนถึงนั่งชมฝูงนกน้ำและปลาที่มาอยู่อาศัยบนแพที่ปลูกขึ้นใกล้ ๆ ใต้ร่มไทรที่มีสายห้อยระย้า สีออกทอง ๆ เวลาที่โดนลมจะโยกโยนเบา ๆ บรรยากาศเงียบสงัดมาก เพราะไม่เคยเห็นน้ามัยดูทีวีหรือฟังวิทยุ บางทีเวลาบ่าย ๆ หลังอาหารกลางวัน ที่ผมต้องเดินไปตามน้ามัยมารับคำสั่งจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพื่อทำงานเกี่ยวกับต้นไม้และดอกไม้ ก็เคยเห็นแค่แกนอนบนเตียงผ้าใบเก่า ๆ และมีเพียงนกกับปลาเท่านั้นที่รายล้อมเป็นเพื่อน
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในนวนิยายชุด “หลายชีวิต” อันโด่งดังของท่านว่า คนบางคนเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของตนให้สิ้นสุด เหมือนกับว่าได้ถูกลิขิตมาไว้อย่างนั้น ปรัชญานี้น่าจะใช้กับชีวิตของน้ามัย ที่คงถูกกำหนดหรือ “ลิขิต” ไว้แล้วเช่นเดียวกัน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ค่อยคุยถึงเรื่องส่วนตัวของคนทำงานในบ้านสวนพลูเท่าใดนัก เพราะบางทีก็อาจจะทำให้คนที่ถูกพูดถึงนั้นอึดอัดหรือไม่มีความสุข ซึ่งก็ไม่ใช่นิสัยของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่จะทำให้ใครรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ท่านก็เคยพูดถึงน้ามัยอยู่บ้าง ท่านบอกว่าน้ามัยเป็นเด็กกำพร้า มีคนในบ้านหรือคนที่โรงพิมพ์สยามรัฐนี่แหละซึ่งเป็นใครท่านก็จำไม่ได้ เอามาช่วยงานในบ้านเป็นครั้งคราว ตั้งแต่ตอนที่เริ่มตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐและสร้างบ้านสวนเรือนไทยที่ซอยสวนพลูขึ้นใหม่ ๆ ตอนนั้นน้ามัยน่าจะอายุสัก 14 หรือ 15 ปี ไม่รู้ว่าเรียนจบถึงชั้นไหน แต่ก็มีความสามารถพอที่จะอ่านตัวหนังสือที่ท่านเขียนสั่งงาน หรืออ่านสลากข้างขวดยาและปุ๋ยบำรุงต้นไม้ดอกไม้นั้นได้ แรก ๆ ท่านก็ให้มาช่วยยกกระถางต้นไม้ดอกไม้ให้ไปวางตรงโน้นตรงนี้ พร้อมกับที่สอนให้ตกแต่งและบำรุงรักษาดูแล ต่อมาเลยให้ช่วยคนสวนคนก่อนดูแลรดน้ำ กระทั่งคนสวนคนนั้นตายไป ก็เลยเหลือน้ามัยทำสวนอยู่คนเดียว และด้วยความที่แกก็ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับคนอื่น ทั้งยังสามารถทำงานตามลำพังได้ดี ก็เลยทำสวนเพียงคนเดียวมาโดยตลอด
ว่าถึงต้นไม้ดอกไม้ในบ้านสวนพลู ก็ต้องว่าย้อนไปถึงเมื่อแรกที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาซื้อที่ดินตรงนี้ ซึ่งก็เป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพี่สาวของท่านคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (แต่งงานกับพระพินิจชนคดี อธิบดีกรมตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 8 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ)ได้จัดซื้อไว้แล้วบางส่วน และได้เชิญชวนให้ญาติพี่น้องมาซื้อร่วมกัน ที่รวมถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ผู้เป็นน้องชายนั้นด้วย แต่เดิมเป็นสวนปลูกพลูที่กินกับหมาก พอตัดทางเข้ามาจากถนนสาธรจึงเรียกถนนนี้ในตอนแรกว่า “ซอยสวนพลู” ต่อมามีการราดยางและทำซอยต่าง ๆ แล้ว ก็กลายเป็น “ถนนสวนพลู” มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนซอยที่ตัดเข้ามายังที่ดินข้างในก็เรียกว่า “ซอยพระพินิจ” ตามชื่อพระพินิจชนคดี เจ้าของที่ดินคนใหม่ดังกล่าว แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกว่า “ซอยสวนพลู” มาจนถึงสมัยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันพอตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ตรงด้านหลังซอยพระพินิจ ซอยนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้)
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อพยพครอบครัวกลับมาอยู่ในซอยนี้ (ก่อนหน้านี้ท่านได้ขึ้นไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ที่จังหวัดลำปาง และถูกเรียกเข้ากองทัพเป็นทหารเกณฑ์ไปช่วยทำสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพา ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านถูกเรียกตัวมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้กลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯนี้) โดยมาเช่าบ้านอยู่ที่ปากซอยพระพินิจนั้นก่อน จากนั้นก็ปลูกบ้านหลังหนึ่งขึ้นที่หน้าที่ดินของท่าน(ปัจจุบันเป็นบ้านพักของ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ และเป็นเจ้าของบ้านสวนพลูตามสิทธิในมรดกอยู่ในปัจจุบัน) โดยที่ดินของท่านนั้นยังเป็นแนวลำประโดงและคันดินปลูกค้างพลูนั้นอยู่ พอมาอยู่หน้าที่ดินตรงนั้นท่านจึงให้ขุดเป็นบ่อใหญ่ขึ้นกลางที่ดินจากทิศตะวันออก ไปยังด้านทิศตะวันตก แล้วหักมุมติดข้างรั้วที่ดินของเพื่อนบ้านไปทางทิศใต้หลังบ้าน บ่อนี้จึงเป็นรูปตัวแอลกลับด้าน แล้วเอาดินที่ขุดขึ้นมาถมที่ส่วนอื่น ๆ ให้สูงขึ้นตั้งแต่หลังบ้านมาจนถึงหน้าบ้านที่เป็นทิศเหนือ
ที่บอกรูปร่างและทิศทางของที่ดินมาอย่างละเอียดพอสมควรนี้ ก็เพื่อจะบอกว่าเจ้าของบ้าน คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ความสำคัญกับทิศทางทางของการวางผังที่ดินมาก ไม่ได้เป็นเพราะเชื่อในฮวงจุ้ยหรือไสยศาสตร์ใด ๆ แต่เพราะความเป็น “คนรักต้นไม้” ที่ต้องวางมุมให้สวนที่จะปลูกต้นไม้นั้นให้รับแสงแดดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากแสงแดดเป็นปัจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการวางแปลนให้เกิดความสวยงาม ของการจัดวางต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่จะเติบโตและสลับรูปพรรณสีสันไปตลอดทั่วพื้นที่ที่จะปลูกต้นไม้เหล่านั้น อันเป็นอัจฉริยะของ “ความเป็นศิลปิน” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นอีกด้วย
น้ามัยคงจะได้ซึมซับความเป็นศิลปินของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้อยู่ไม่น้อย จึงสามารถถ่ายทอด “จินตนาการ” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อย่างดียิ่ง