เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ในช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังต้องมีการปฏิบัติการฝนหลวง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 13 หน่วยทั่วประเทศ เนื่องด้วยฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกกระจายตัวทั่วทุกภูมิภาคและไม่ได้ตกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยทั้งหมด 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนมากกว่าพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน จำนวน 30 กว่าล้านไร่ และเป็นพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝน 110 กว่าล้านไร่ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง ที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในการบรรเทาปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งในปี 2564 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศคาดการณ์ว่าจะภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ การป้องกันและเตรียมรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมีการเตรียมเก็บกักน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกมาก เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้การหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงขึ้นได้ รวมถึงทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กองทัพอากาศ และกองทัพบก จะยังคงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรตลอดฤดูกาลต่อไป สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.64) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำจำนวน 10 แห่ง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 3 แห่ง และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณ อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันนี้ จากข้อมูลความชื้นในดินและแหล่งน้ำต่างๆ ยังคงมีปริมาณสะสมน้อย ทำให้มีผู้ขอรับบริการฝนหลวง (ข้อมูล ณ 19 พ.ค. 2564) จำนวน 221 แห่ง (48 จังหวัด 176 อำเภอ) ทั่วประเทศ ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือ โดยมีการติดตามสภาพอากาศในวันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร หน่วยฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมาและบุรีรัมย์ และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนรัชชประภา อย่างไรก็ตาม อีก 9 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงจะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100