เมื่อวันที่ 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาเนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิคเค ในหัวข้อหลัก “การสร้างรูปแบบของอนาคตยุคหลังโควิด-19: บทบาทของภูมิภาคเอเชียต่อการฟื้นตัวของโลก”(Shaping the post-COVID era: Asia’s Role in the Global Recovery) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกฯ ได้แบ่งบันมุมมองของไทยเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อน เพื่อกลับมาลุกขึ้นยืนและเข้มแข็งกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ความร่วมมือพหุภาคีจะเป็นกุญแจที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งและดีกว่าเดิม และเชื่อมั่นว่า เอเชียจะสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้มีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบองค์รวมได้ นายกฯ กล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นมีบทบาททางธุรกิจในไทยมายาวนานซึ่งไทยก็มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก เป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า 5,800 แห่ง และยังเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งการลงทุนสะสมของญี่ปุ่น(FDI)ในไทยจนถึงปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขอยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทุกประเทศให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบาย Thailand + 1 ต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ครอบคลุมประเด็น ดังนี้ 1. รักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงโครงการใน EEC เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน 2. พัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการระบบราง โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการการพัฒนา smart city รอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น 3. พัฒนาแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสำคัญ ดังเช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นและไทยร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การอบรมทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป 4. ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรและภาษีนิติบุคคล ซึ่งไทยมีแผนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ และ 5.เสริมสร้างโอกาสการค้าที่เสรี เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงการพิจารณาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า ความร่วมมือพหุภาคีก็สำคัญในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรอบด้าน ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่าง อาเซียน เอเปค RCEP และ CPTPP ล้วนเป็นกลไกสำคัญต่อกระบวนการฟื้นฟู โดยเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนได้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพื่อจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พัฒนาวัคซีนและยารักษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอาเซียนบวกสาม และไทยพร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งจากภายในและนอกภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้นายกฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนให้เสรีและเปิดกว้าง ไทยจะเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือเอเปค ในปี ค.ศ. 2022 จะริเริ่มการพูดคุยถึงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป ซึ่งหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมในระยะยาว และเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้นให้เพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ e-commerce และการค้าดิจิทัล เช่น การสนับสนุนธุรกิจ start-ups ตอบสนองต่อยุคสมัยแบบ new normal เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ทุกคนมีความพร้อมและมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล 2. ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของโลก ได้แก่ การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม การยอมรับเอกสารการฉีดวีคซีนระหว่างกัน การพัฒนาบัตรสุขภาพแบบดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศต่าง ๆ ได้ ตลอดจนการเปิดพรมแดนและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งนี้ไทยขอเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นสินค้าสาธารณะของโลกและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ซึ่งไทยมีข้อริเริ่มการกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอย่างปลอดภัย จึงหวังว่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นผ่านข้อริเริ่มนี้ 3. ด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาภูมิภาคและโลกให้ดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยผลักดันวาระเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยส่งเสริมแนวปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งเห็นชอบให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-19 ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบสีเขียวของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเร่งการบรรลุ SDGs ให้สำเร็จโดยเร็ว ในช่วงท้ายนายกฯ กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียว่า สามารถสร้างโลกในยุคหลังโควิด-19 ที่เข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น ขอส่งกำลังใจให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและพาราลิมปิคในปีนี้ ซึ่งทัพนักกีฬาไทยพร้อมเข้าร่วม รวมทั้งขอส่งความปรารถนาดีและความนับถือไปยังนายกรัฐมนตรีซูกะ รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน ขอให้มั่นใจว่า ไทยสนับสนุนญี่ปุ่นเสมอในฐานะเพื่อนและเราจะชนะวิกฤตโรคระบาดนี้ พร้อมกับสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมให้แก่ชนรุ่นหลังไปด้วยกัน