เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เพื่อติดตามการเตรียมการรับมือน้ำท่วม และการเตรียมรับมือฝนตกที่น้อยกว่าค่าปกติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานผลการดำเนินงาน อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการติดตามความพร้อมในการดำเนินงานรองรับ 10 มาตรการในระดับพื้นที่โดยตัวแทนคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 4 ลุ่มน้ำ ซึ่งประกอบด้วย ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ณ ห้องน้ำปิง อาคารจุฑาเทพ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 โดยฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้ว 5-10% พายุหมุนเขตร้อน จำนวน 2-3 ลูก จะเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ประกอบกับการมีกระแสลมพัดแปรปรวนเกิดเป็นลมกรรโชกแรงและฝนฟ้าคะนอง ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีฝนตกหนักและอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติเสนอ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนประจำปี 2564 ประกอบด้วย 1) การคาดการณ์ ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3) การทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเขื่อนระบายน้ำ 4) การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) การปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6) การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) การเตรียมพร้อมและวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์และ 10) การติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติให้ดำเนินการตามมาตรการที่ 7 และ 8 โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการที่ 7 การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาวิกฤตน้ำในช่วงฤดูฝน ประจำปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ผลิตน้ำสะอาด จุดแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือ จุดสูบน้ำช่วยเหลือ และจุดจ่ายน้ำสะอาด รวมทั้งหมด 537 จุด โดยคาดว่าในช่วงฤดูฝน ปี 2564 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีศักยภาพสูบน้ำช่วยเหลือประชาชนได้ 30 ล้าน ลบ.ม. และสนับสนุนน้ำสะอาดได้ประมาณ 76 ล้านลิตร
นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาด 12-30 นิ้ว จัดเตรียมรถบรรทุก รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักรหนัก และเรือดูดโคลน ที่มีความพร้อมปฏิบัติการจำนวน 433 เครื่อง จัดเตรียมชุดขุดเจาะน้ำบาดาลและรถผลิตน้ำดื่มสะอาดเคลื่อนที่ จำนวน 96 ชุด ปรับปรุงซ่อมแซมสถานีโทรมาตรและสถานี Early Warning System เพื่อให้มีความพร้อมในการเตือนภัย ป้องกันการเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากเหตุน้ำท่วมและน้ำหลาก-ดินถล่ม จำนวน 2,097 สถานี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของสถานีเตือนภัยทั้งประเทศ โดยสถานีดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 4,911 หมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน โดยแบ่งเป็นศูนย์ส่วนกลาง จำนวน 3 ศูนย์ (ศูนย์ปฏิบัติการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรน้ำ ศูนย์เมขลา กรมทรัพยากรน้ำ และศูนย์นาคราช กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และศูนย์ส่วนภูมิภาคหรือศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาส่วนหน้า จำนวน 99 ศูนย์ (สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1-12 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด)
มาตรการที่ 8 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงการส่งน้ำ ด้านน้ำผิวดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำและพัฒนาระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 564 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำเพื่อสนับสนุนประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานในช่วงที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ปี 2564 ได้ 324 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ 149,061 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 487,058 ไร่
ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในการดูแลจำนวน 65 อ่าง ซึ่งมีน้ำเก็บกักอยู่ 51% หรือ 120 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ปี 2564 ปริมาณน้ำในอ่างทั้ง 65 แห่งจะมีปริมาณเก็บกักเต็มความจุ ในส่วนของคุณภาพน้ำช่วงฤดูฝนพบว่า แหล่งน้ำมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงเนื่องจากได้รับสิ่งสกปรกและสิ่งปฏิกูลต่างๆที่สะสมบนผิวแผ่นดิน รวมถึงท่อระบายน้ำต่างๆ โดยการชะล้างโดยฝนลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำที่มีแนวโน้มเสื่อมโทรมในช่วงฤดูฝนที่ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย ด้านน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลและก่อสร้างระบบกระจายน้ำ โดยเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 2,498 บ่อ ใน 1,915 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 84.98 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชน 156,511 ครัวเรือนได้รับประโยชน์ พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทานกว่า 97,500 ไร่ ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเติมน้ำใต้ดินแล้วเสร็จ 998 แห่ง คาดว่าฤดูฝนปีนี้จะสามารถเพิ่มน้ำใต้ดินได้ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะดำเนินการเจาะน้ำบาดาลทั้งสิ้น 901 บ่อ ในพื้นที่ 751 แห่ง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเจาะแล้วกว่า 827 บ่อ สร้างระบบกระจายน้ำแล้วเสร็จ 522 แห่ง คิดเป็น 70% สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 24.17 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชน 13,715 ครัวเรือนได้รับประโยชน์ และพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 39,220 ไร่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างยั่งยืน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2563 ผ่านการทำการศึกษาทดลองเติมน้ำทั่วประเทศ จำนวน 1,361 แห่ง สามารถเพิ่มน้ำใต้ดินได้ 2.13 ล้าน ลบ.ม./ปี ทำการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ อันเป็นโครงการตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 126 แห่ง ใน 73 อำเภอ 40 จังหวัด สามารถเพิ่มปริมาณน้ำ 22.5828 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี พื้นที่เกษตรกรรมได้ประโยชน์ 57,800 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,804 ครัวเรือน
ในการนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำทุกส่วนดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานโดยเฉพาะการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรไม้ผลให้ประชาชนรับทราบและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลต่อ