มกอช.รับลูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รุกขับเคลื่อนพัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพ-ปลอดภัยป้อนตลาดโลก วางแนวทางยกระดับมาตรฐานสินค้า GAP-ออร์แกนิก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประเทศคู่ค้ายอมรับ วันนี้ (9 ต.ค.60) นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนดำเนินงาน มกอช. ในปี 2561 ว่า ปีนี้ มกอช. ได้กำหนดเป้าหมายบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ ให้สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ จีเอพี (GAP) และเกษตรอินทรีย์(Organic) และเร่งรัดการตรวจรับรอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ​เบื้องต้น มกอช.ได้มีแผนบูรณาการขับเคลื่อนที่สำคัญได้แก่ 1.สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตทั้ง GAP และเกษตรอินทรีย์ให้เพียงพอและทันต่อความต้องการของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าว พืชผักและผลไม้ โดยเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานดังกล่าวให้กับหน่วยรับรอง (CB) และหน่วยตรวจ (IB) เอกชนเข้ามาช่วยตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าให้เป็นรูปธรรมชัดเจนภายในปี 2562 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ 2.เร่งพัฒนาศักยภาพหน่วยรับรองเกษตรอินทรีย์ภาครัฐ เช่น กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตร รวมถึงหน่วยรับรองเอกชน ให้ได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียน เป็นต้น และร่วมผลักดันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.) และตรวจรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand) ให้เป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เช่น มาตรฐาน JAS ของญี่ปุ่น มาตรฐาน IFAOM ของสหภาพยุโรป และมาตรฐาน NOP ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้า ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยในอนาคต 3.พัฒนาขีดความสามารถและเพิ่มจำนวนผู้ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการโดยดำเนินการร่วมกับหน่วยรับรองทั้งภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษา และ4.บูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาด่านตรวจสินค้าเกษตรและระบบตรวจสอบนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตามนโยบายของรัฐบาล และรองรับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ช่วยลดขั้นตอนการส่งออกและนำเข้า จะทำให้การค้าการส่งออกสินค้าเกษตรคล่องตัวมากยิ่งขึ้น “ขณะเดียวกันยังเร่งขับเคลื่อนงานตามภารกิจหลักขององค์กร อาทิ งานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพให้สอดคล้องกับสากลแบบมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าจัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิม ที่ประกาศใช้ไปแล้ว 285 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานสินค้า 102 เรื่อง มาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป 39 เรื่อง และมาตรฐานระบบการผลิต 144 เรื่อง ซึ่งในปี 2561 นี้ จะเร่งจัดทำมาตรฐานเพิ่มอีก 15 เรื่อง เช่น กาแฟอะราบิก้าและโรบัสต้า กะหล่ำดอก มะระ เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ และฟาร์มไก่ไข่ เป็นต้น ทั้งยังร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) มาตรฐานสุขอนามัยพืช (IPPC) มาตรฐานสุขอนามัยสัตว์และโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และมาตรฐานอาเซียน ตลอดจนร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออก พร้อมผลักดันเปิดตลาดสินค้า เกษตรไทยในต่างประเทศด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว