กรมส่งเสริมการเกษตรน้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" และ "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร บนฐานของความต้องการของประชาชนและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมบูรณาการกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการในพื้นที่ความมั่นคง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับต่างประเทศ มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งเกษตรกรมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาศัยพึ่งพารายได้จากทางเดียว จึงมักประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก จึงทำให้มีคุณภาพชีวิตต่ำ โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี งานด้านพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในแผนงานบูรณาการงานด้านการพัฒนา ที่มุ่งให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ ด้วยหลักประชารัฐ โดยมีมาตฐานตัวชี้วัด คือ ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งมี ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนการดำเนินงาน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นโครงการหนึ่งที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาแบบองค์รวมและส่งเสริมพัฒนาทุกมิติ มีกิจกรรมสนับสนุนทุกด้าน ทั้งด้านการพัฒนาคน โดยพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกร แม่บ้านเกษตรกร ปลูกจิตสำนึกรักอาชีพการเกษตรแก่ยุวเกษตรกร เสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนเปราะบาง ด้านการพัฒนาสินค้า ผลักดันและยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากล การพัฒนาพื้นที่ มุ่งเน้นการสร้างเกษตรกรต้นแบบให้ครอบคลุมทุกตำบล เพื่อขยายผลองค์ความรู้ และวิชาการที่ถูกต้องเหมาะสม ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ในการส่งเสริมทำการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นการส่งเสริม สืบสาน รักษาและต่อยอดการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างแหล่งอาหารในชุมชน สร้างความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตร ลดและบรรเทาปัญหาในพื้นที่ สร้างสังคมที่มีความสุข มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว ด้านนางฮัสน๊ะ เจ๊ะดือราแม บ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 1 ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ การทำเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เดิมทำอาชีพปลูกแตงกวาขาย มีรายได้เฉลี่ยเพียง 100,000 บาทต่อปีเท่านั้น อีกทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำๆ ทำให้ประสบปัญหาเรื่องโรค แมลง และอาการอื่น ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยครั้ง จนกระทั่งได้รับโอกาสจากสำนักงานเกษตรอำเภอจะแนะ ชักชวนเข้าอบรมเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ภายใต้โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา โดยได้ทำการเกษตรผสมผสานทั้งปลูกผักสวนครัว ทำปศุสัตว์และประมง ยึดหลัก “การใช้ตลาดนำการผลิต” สังเกตว่าพืชผักชนิดใดเป็นที่ต้องการของตลาด หรือพืชผักแต่ละชนิดมีราคาดีช่วงใด เพื่อจะได้วางแผนในการปลูกพืชผักชนิดนั้นๆ และเสริมด้วยพืชผักที่ราคาแพงเป็นช่วงๆ จากการทำการเกษตรแบบผสมผสานและมีการวางแผนที่ดี ส่งผลให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือม่วง บวบ พริกหยวก พริกขี้หนู ผักบุ้ง ฟักทอง ข้าวโพดหวาน มะละกอ กระเจี๊ยบเขียว สะตอ มีรายได้เฉลี่ย 240,000 บาทต่อปี โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7,640 บาทต่อปี ด้านปศุสัตว์ เป็ดไข่ ไก่ไข่ เป็ดเทศ มีรายได้เฉลี่ย 52,410 บาทต่อปี มีต้นทุนการผลิต 26,400 บาทต่อปี และด้านประมง จำหน่ายปลานิลรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อปีและปลาดุก 15,000 บาทต่อปี โดยมีแหล่งจำหน่ายผลผลิต ตลาดในชุมชน ตลาดเกษตรสีเขียว ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส “หลังจากได้เข้าร่วมโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเรื่องค่าอาหารได้มากกว่า 90% เนื่องจากมีพืชผักและเนื้อสัตว์ไว้บริโภคเอง มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ไม่น้อยกว่าปีละ 357,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวและเพียงพอใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังมีเงินเก็บออมซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 2 ไร่ โครงการนี้ยังทำให้เกิดเครือข่ายเพื่อนบ้าน สร้างความสามัคคีในชุมชน ซึ่งในอนาคตจะขยายผลไปสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจอาชีพการเกษตร เพื่อให้เข้ามาเติมเต็มเรื่องช่องทางตลาด เช่น การขายสินค้าผ่านออนไลน์ เป็นต้น”นางฮัสน๊ะ กล่าว