เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับความร่วมมือกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ซึ่งสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำในเขื่อน การบรรเทาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ซึ่งขณะนี้มี 13 หน่วยฯ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย โดยเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นประจำทุกวันโดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง แพร่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สกลนคร นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 13 แห่ง นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา หน่วยฯ จ.ตาก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร หน่วยฯจ.อุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.หนองคาย และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุบลราชธานีจ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร หน่วยฯ จ.สระแก้ว ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สระแก้ว ทั้งนี้ อีก 7 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 และสามารถติดตามรับชมรายการ “ใต้ปีกฝนหลวง” ได้ผ่านช่องทาง YouTube ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร