กรมชลประทาน เชิญชวนให้เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาทำนาปี และเพาะปลูกพืชพร้อมกันโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการและมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (17 พ.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35998 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 40070 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,760 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,111 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาการ ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปี2564 อย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่มีความพร้อมในการทำนาปี ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ ให้เริ่มทำนาหรือเพาะปลูกพืชพร้อมกันโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง มีการเพาะปลูกพืชไปแล้วประมาณ 543,725 ไร่ หรือคิดเป็น 38 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกพืชไปแล้ว ร้อยละ 92 ของแผนฯ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม โดยไม่กระทบต่อเกษตรกร พร้อมกับบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดเป็นไปตามเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ จัดสรรเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสียงอุทกภัย ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบเขื่อนและอาคารชลประทานให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด