วันที่ 17 พ.ค. 64 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่ข่าวและจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีศาลอาญาโดยมีเนื้อหาในลักษณะที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185(1) เพราะลงท้ายด้วยการใช้สถานะ ส.ส. รายละเอียดปรากฏตามข่าวในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีข้อเท็จจริงของจดหมายดังกล่าว ถ้าย้อนไปดูกรณีที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูลนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ทำหนังสือในลักษณะแทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรม จะเห็นว่า อาจมีลักษณะการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกัน นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การทำจดหมายเปืดผนึกถึงอธิบดีศาลอาญาซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ จึงอาจเข้าข่ายการใช้สถานะ ส.ส. ก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185(1) และเป็นอำนาจของ ป.ป.ช ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1) ด้วย ทั้งนี้ตามแนวทางที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลกับนายสุเทพ มาก่อนแล้ว นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ความตามมาตรา 234(1) ซึ่งเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. นั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องทราบดีอยู่แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ใช้มาตรา 234 ไปร้อง ป.ป.ช. กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เช่นกัน นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้น การทำจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีศาลอาญา ของ ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย 20 คน โดยระบุไว้ชัดว่า ใช้สถานะ ส.ส. ในการทำจดหมายเปิดผนึกโดยเผยแพร่ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทยดังกล่าว จึงอาจเข้าลักษณะตามแนวทางที่ ป.ป.ช. เคยมีมติชี้มูลกับนายสุเทพฯ มาแล้ว แต่ที่แตกต่างคือ กรณีนายสุเทพนั้นรัฐธรรมนูญเดิมให้ส่งวุฒิสภาถอนถอน แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษา นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตามแนวที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลมาแล้ว ดังนั้น เพื่อให้ ป.ป.ช. ได้ปฎิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามมาตรฐานที่เคยทำ เช้าวันนี้ตนจึงได้ส่งคำร้องถึง ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ EMS ให้ทำการตรวจสอบต่อไป