วันที่ 16 พ.ค. 64 นายกองตรีไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า อ.ศิลาลาด ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน lumpy skin disease (LSD) ในโค-กระบือ โดยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีแมลงดูดเลือด เช่น ยุง เหลือบ แมลงวันคอก เห็บ เป็นพาหะนำโรค ทำให้มีสัตว์ป่วยเพิ่มเติมจำนวนมากและขยายขอบเขตการเกิดโรคระบาดออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ตำบลต่างๆ ของอำเภอศิลาลาด จากการสำรวจพบมีโค-กระบือ ติดเชื้อแล้วจำนวนกว่า 270 ตัว ในพื้นที่ 4 ตำบล ซึ่งในขณะนี้ในประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนสำหรับใช้ในการป้องกันโรค และจะนำเข้ามาในประเทศไทยเร็วๆนี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกิน เป็นโคที่เกษตรกรรายย่อยที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 10 ราย จากจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2 ตัว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จึงเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโค กระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดต่อสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 เชนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะและบริเวณหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมาอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูก และมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 4-45% อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจจะมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ การติดต่อของโรคนี้ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น ยุง แมลงวัน เหลือบ เห็บ และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ดังนั้น อำเภอศิลาลาด จึงขอประกาศแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ เฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อในโค-กระบือดังกล่าว ด้วยการจำกัดแมลงพาหะโดยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงดูดเลือด ด้วยยาไซเปอร์เมทริน บริเวณรอบๆคอกสัตว์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดแมลงพาหะ ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัยต่อสัตว์ และให้กางมุ้งกันแมลง รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง รวมทั้งลูกน้ำของยุงทุกชนิด พร้อมทั้งโรยปูนขาว ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ในกรณีสัตว์ป่วย คัดแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูงและทำการรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ หากพบเห็นสัตว์ป่วย ให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอศิลาลาด โทรศัพท์ 08-1914-7281 .