NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ จู้หรง รถสำรวจดาวอังคารของจีน ถึงพื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัยแล้ว
หลังจากที่ยานเทียนเวิ่น-1 ของจีนเดินทางถึงดาวอังคารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ขณะนี้ได้ปล่อยยานลงจอดและ "รถสำรวจจู้หรง" ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารสำเร็จ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 เวลา 06:18 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
ยานลงจอดและรถสำรวจจู้หรง ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารบริเวณที่ราบต่ำยูโทเปีย (Utopia Planitia) ซึ่งเป็นหย่อมที่ราบที่เคยเกิดการพุ่งชนขนาดใหญ่ในอดีต อยู่ทางซีกเหนือของดาวอังคาร การร่อนลงของรถสำรวจจู้หรงจะมีส่วนคล้ายรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ของสหรัฐฯ ตรงที่ใช้โล่กันความร้อนระหว่างฝ่าชั้นบรรยากาศดาวอังคาร กางร่มชูชีพและจุดเครื่องยนต์จรวดชะลออัตราเร็วขณะร่อนลงสู่พื้นผิว แต่จะต่างกันตรงที่จู้หรงไม่ใช้เครนหย่อนรถสำรวจแบบเพอร์เซเวียแรนส์
รถสำรวจจู้หรง ซึ่งตั้งชื่อตามเทพแห่งไฟในตำนานพื้นบ้านของจีน บรรจุอยู่ภายในยานลงจอด ทำหน้าที่เป็นฐานลงจอดที่จะกางรางออกมาให้รถสำรวจเคลื่อนตัวตามรางลงสู่พื้นผิว ทางจีนคาดการณ์ว่ารถสำรวจจู้หรงจะสามารถสำรวจดาวอังคารได้อย่างน้อย 90 วันของดาวอังคาร (93 วันของโลก) โดยมีภารกิจศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและธรณีวิทยา และตรวจหาน้ำแข็งบนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งที่ราบต่ำยูโทเปีย พื้นที่ลงจอดของรถสำรวจจู้หรงอาจมีน้ำแข็งใต้ดินจำนวนมาก และเคยเป็นพื้นที่ลงจอดของยานไวกิง 2 ของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1976
รถสำรวจจู้หรงมีลักษณะเป็นรถหุ่นยนต์หกล้อ มีขนาดใกล้เคียงกับรถสำรวจฝาแฝดสปิริต-ออพพอร์ทูนิตีของสหรัฐฯ บรรทุกอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ 6 อย่าง ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง 2 ตัว เรดาร์สำรวจชั้นใต้ดิน ตัวตรวจวัดสนามแม่เหล็ก ระบบเลเซอร์สำหรับยิงลงบนก้อนหินเพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของก้อนหิน และอุปกรณ์ตรวจสภาพอุตุนิยมวิทยา เพื่อศึกษาสภาพอากาศและภูมิอากาศบนดาวอังคาร
รถสำรวจจู้หรงจะทำหน้าที่สำรวจพื้นผิว โดยมียานเทียนเวิ่น-1 ที่โคจรรอบดาวอังคารทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลระหว่างรถสำรวจจู้หรงกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินบนโลก ซึ่งยานโคจรรอบตัวดาวถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจได้อย่างน้อย 1 ปีของดาวอังคาร (687 วันของโลก)
ด้วยความสำเร็จจากการลงจอดของรถสำรวจจู้หรง ทำให้จีนเป็นชาติที่สองที่ส่งรถสำรวจลงสู่ดาวอังคารได้สำเร็จ ถัดจากสหรัฐฯ ที่มีรถสำรวจดาวอังคารแล้ว 5 คัน
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
อ้างอิง :
https://www.space.com/china-mars-rover-landing-success...”