นายชูวิทย์​ กมลวิศิษฐ์​ อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อดังได้โพสต์ข้อความและภาพบนเพจเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า คดีหมิ่นประมาท "ยิ่งพูดจริง ยิ่งผิด" โบราณเขาบอก "กินขี้หมาดีกว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล" ตอนนี้ ข้อหาหมิ่นประมาท มักบวกตามด้วย ข้อหานำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พ่วงกันมาเป็นแพ็คข้อหาคู่ ให้เสียวไส้เฉียดคุกเฉียดตะราง หากศาลตัดสินว่าผิด มีสิทธิ์ย้ายสัมมะโนครัวไปนอนคุก จึงต้องมีการประนีประนอม เพราะเป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ นักการเมือง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงมักใช้ข้อหานี้ "ปิดปาก" ประชาชนทั่วไป ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในโพสต์ หรือคอมเมนท์ต่างๆ นานา ในสื่อโซเชียล โดนกันมานักต่อนักแล้ว . ผมเป็นผู้ที่โดนคดีหมิ่นประมาทเป็นประจำ เคยโดนเรียงกันเป็นตับนับสิบคดีตั้งแต่ 20 ปีก่อน . บางคดีขึ้นโรงขึ้นศาลให้ตัดสินถึงฎีกา บางคดีเจรจาประนีประนอมยอมความกัน และบางคดีแลกกันหมัดต่อหมัด ฟ้องมาฟ้องกลับ ให้ไปพิสูจน์ถึงชั้นศาล . น้อยครั้งที่ผมได้เป็นโจทก์ฟ้องคนอื่น ส่วนมากโดนฟ้องตกเป็นจำเลยทั้งนั้น . แต่กระบวนการทางกฎหมายใช้เวลามาก ศาลจะรับฟ้องหรือไม่? หากรับฟ้อง ไหนจะนัดตรวจพยานหลักฐาน นัดสืบพยาน กว่าจะตัดสินกินเวลาถึงหลายปี . แพ้ชนะก็ต้องมีฝ่ายใดไปยื่นอุทธรณ์ ฎีกา อีก กว่าคดีจะสิ้นสุด คนก็ลืมกันหมดแล้วว่าฟ้องกันเรื่องอะไร? . แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟ้องคือ “ขู่ให้เงียบปาก” แต่เป็นวิธีที่ได้ผลกับบางคน มีฝ่ายที่ยืดอกอย่างผู้ชนะ ส่วนอีกฝ่ายต้องขอโทษขอโพยว่าล้อเล่น เข้าใจผิดไป เพราะหากโจทก์เอาจริง สู้แพ้อาจเดินคอตกเข้าคุก หรือศาลอาจเมตตาให้รอลงอาญาแทน . จึงต้องใช้เวลารักษาแผลใจ รอให้หายโกรธแล้วไกล่เกลี่ย หรืออาจท้ารบ สู้กันให้ถึงใจพระเดชพระคุณ . อันที่จริง คดีหมิ่นประมาทเมืองนอกเมืองนาเขาถือเป็นคดีแพ่ง ไม่ได้เป็นคดีอาญาถึงขนาดติดคุกติดตะรางเสียอนาคต แต่ประเทศไทยระบบอำนาจนิยมมีโทษจำคุกเป็นของแถม ในระยะหลังๆ คดีหมิ่นประมาทมักติดคุกจริง ไม่รอลงอาญา มีให้เห็นบ่อยๆ ต้องเข้าไปนอนในซังเต เพราะคำพูดมันส์ในอารมณ์ ณ ขณะนั้น ไหนจะต้องไปเสียเงินจ้างทนาย เสียเวลาทำมาหากิน แล้วยังติดคุกอีก ชาวบ้านธรรมดาจึงไม่อยากมีเรื่องมีราว ยอมความขอโทษขอโพยกันไปดีกว่า ศาลมีศูนย์ไกล่เกลี่ยคดี หากคู่ความเห็นว่าสามารถยอมความตามเงื่อนไขที่เจรจาตกลงกันได้ เรื่องเป็นอันจบ แฮปปี้เอนดิ้ง เพราะว่าเอาจริงๆ ศาลก็ไม่อยากมาเสียเวลากับคดีรกศาล แค่คดีที่มีอยู่ก็เต็มศาลแล้ว ยอมความกันดีกว่าเสียเวลาศาลมานั่งสืบพยานในคดีที่เรียกกันว่าคดี "มโนสาเร่" แบบนี้ แต่หากไม่ยอมความกัน มีผู้แจ้งความผ่านพนักงานสอบสวนโรงพัก จะต้องพิมพ์มือ มีประวัติขึ้นที่ตำรวจอีก เมื่อตำรวจเห็นว่ามีมูลส่งอัยการ หากอัยการเห็นด้วยไปฟ้องศาลต่อ หรือจะนำคดีไปร้องศาลเองโดยตรง เพราะเห็นว่าเร็วกว่า ก็เป็นเทคนิคทางกฎหมายของแต่ละคนแต่ละสถานการณ์ ตอนนี้มีพวกนักการเมืองขี้ฟ้องอยากเอาใจประจบนาย ประเภท "นายไม่ต้องเดี๋ยวผมจัดให้" เสนอตัวไปฟ้องแทนให้เห็นกันอยู่ ประชาชนคนทั่วไปที่ถูกฟ้อง ย่อมหวั่นไหวอย่างที่บอก นักกฎหมายรู้กันว่า คดีหมิ่นประมาทนั้น "ยิ่งพูดจริง ยิ่งผิด" แต่ชาวบ้านไม่รู้ เผลอพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพราะคิดว่าที่พูดไปเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องที่อ่อนไหว ทำให้เสียคะแนน เสียหน้า ก็จะมีพวกรู้ทาง หน้าที่การงานตัวเองไม่มีให้ทำหรือทำไม่เป็น ถนัดแต่เรื่องเลีย "ถูกครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย" เสนอหน้าเดินไปฟ้องให้เป็นข่าว ให้นายเห็นว่า "เออ อย่างน้อยเลี้ยงมันไว้ มีประโยชน์ดีกว่าหมาเสียหน่อย ตรงที่ไม่เอาแต่เลียเป็นอย่างเดียว" . หากชาวบ้านพูดความจริง โดยเฉพาะคนที่มีตัวตนในสังคม พูดแล้วมีคนฟัง สื่อเอาไปลงข่าวกระจายต่อ โดนประเคนด้วยคดี "หมิ่นประมาท" ปิดปาก ก็จะหงอยสงบปากสงบคำลงไป อย่างนี้ ชาวบ้านจะทำยังไง ? ในฐานะผู้ที่เคยโดนคดีหมิ่นประมาทผ่านมาเป็นสิบๆ คดีแล้ว ขอเตือนว่า หากไม่พร้อมจะมีคดีต้องระมัดระวัง อยู่เมืองไทยเรื่องทำนองนี้ไม่ได้เป็นแบบสุภาษิตไทยที่ว่า "คนล้มอย่าข้าม" แต่กลับเป็น "คนล้มต้องกระทืบซ้ำ" . หากสู้ ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พูดไปคือ "ความจริงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม ประเทศชาติ" ไม่ใช่มีอคติเรื่องส่วนตัว หรือว่ากล่าวโดยไม่มีเหตุผลรองรับ . สมัยหนึ่งสิบกว่าปีก่อน ผมเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ถูกหัวหน้าพรรคผมเอง นายบรรหาร ศิลปอาชา มังกรการเมือง ฟ้องหมิ่นประมาท . ผมชนะทั้งศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ เพราะสิ่งที่ผมพูดเป็น "เรื่องจริง" ที่ท่านบอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาล แต่ต่อมาหลังเลือกตั้ง ดันประชุมพรรคแล้วเปลี่ยนใจไปร่วมรัฐบาลเสียฉิบ ด้วยประโยคคลาสสิก "ยอมเสียสัจจะเพื่อชาติ" . ท่านบรรหารกรุณาฟ้องผม เพราะเห็นว่าตำหนิท่านในเรื่องจุดยืน ขนาดขึ้นป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วนด่าว่า "ไร้สัจจะไปร่วมรัฐบาล" รวมทั้งเอารูปท่านไปนั่งตำหนิหน้าพรรคชาติไทย . ปรากฏว่า ศาลยกฟ้องผมทั้งชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า ท่านเป็นบุคคลสาธารณะ แม้สิ่งที่ผมพูดจะใช้คำรุนแรงไปบ้าง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตใจ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐธรรมนูญพึงรองรับสิทธิให้ทำได้ . อีกทั้งยังมีคดีหมิ่นประมาทที่บรรดาตำรวจใหญ่ฟ้องผมเรื่อง "บ่อนการพนัน" ที่ผมเอามาเปิดเผยต่อสาธารณชน หาว่าผมทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณข้าราชการ บางครั้งทนายผมยุ่งมาศาลไม่ทันเพราะติดคดีอื่น . ผมยังขออนุญาตศาลซักพยานด้วยตัวเองก็มี แต่ก็เอาตัวรอดได้ เพราะศาลเชื่อในพยานหลักฐาน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของผม . หรือก็มีบางคดีที่ผมไม่อยากสู้ให้เสียเวลา เจรจายอมความประนีประนอมให้เรื่องจบ เพราะเข้าสุภาษิตผมที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" เลยยอมรับ ขอโทษขอโพยโจทก์ เลิกแล้วต่อกัน . ที่เล่าให้ฟังจากประสบการณ์เพราะเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ หากสิ่งที่พูดเป็นประโยชน์ต่อสังคมสาธารณชนคนไทยเท่านั้น เป็นหนทางรอดทางเดียว . ไม่ใช่นึกคะนองปากพาดพิงไป แต่ไม่อยากมีคดี แล้วมาสำนึกทีหลัง เปิดช่องให้พวกหุ่นไล่กาเอาไปฟ้อง เพื่อให้คนถูกฟ้องร้องโหยหวนว่า "มาดีกันเถอะ จะร้องเพลงให้ฟัง" . อย่างนี้เสียฟอร์ม ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว . โดยเฉพาะเรื่อง "วัคซีน" ที่รัฐแบ่งแยกเป็น 2 ประเภท ที่เรียกว่า "วัคซีนที่รัฐจัดให้" กับ "วัคซีนทางเลือก" . ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อรัฐบาลเชื่อฟังผมนำเรื่องวัคซีนเป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ . รัฐบาลช่วยเชื่ออีกหน่อยเถอะว่า ขอให้มีวัคซีนเพียงประเภทเดียวคือ "วัคซีนแห่งชาติ" รวมเอาวัคซีนทุกชนิดที่หาได้ ไม่ว่ายี่ห้อไหน ฉีดให้ประชาชนคนไทยอย่างเสมอภาคทุกชนชั้นโดยไม่แบ่งแยก . อย่าให้วัคซีนกลายเป็นเครื่องกำหนดความเหลื่อมล้ำ คนรวยมีทางเลือก ใช้ "วัคซีนทางเลือก" คนจนไม่มีทางเลือก ใช้ "วัคซีนที่รัฐจัดให้" . ไปทำให้เป็น "วัคซีนมากเรื่อง" แบบนี้ทำไม? . มีประเทศไหนเขาทำ ช่วยยกตัวอย่างมาสักประเทศในโลกเถอะครับ . ในเมื่อวัคซีนเป็นเรื่องสุขภาพความจำเป็นของคนไทยทุกคน . ที่ผมพูดไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม หามีอคติส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น . นี่คงไม่มาฟ้องผมอีกคนนะครับ