กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลขธุรกิจดาวเด่นไตรมาสแรก ปี ‘64 พบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมาแรง มีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็น 5 อันดับแรกของการจดทะเบียนจัดตั้ง คาดมาจากนโยบายส่งเสริมการจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคลของรัฐบาล เกื้อหนุนให้ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอันดับต้นของโลก นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั่วโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิต หลายธุรกิจปิดกิจการลงเพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุน และบางธุรกิจลดจำนวนแรงงานลงซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการป้องกันที่เกิดขึ้น การกลับไปยังถิ่นฐานเพื่อหาช่องทางสร้างอาชีพใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยพยุงความเป็นอยู่และสร้างความมั่นคงในอนาคต สำหรับธุรกิจการเกษตรเป็นเป้าหมายและทางเลือกลำดับต้นๆ ที่แรงงานมักเลือกนำไปประกอบเป็นอาชีพ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะด้านการเกษตรเป็นต้นทุนอยู่แล้ว อีกทั้ง การเกษตรยังเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คน สามารถต่อยอดนำความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร “รัฐบาลมีนโนบายผลักดันให้การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน รวมทั้งนโยบายด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและทันต่อบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเร่งส่งเสริมการจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐเพิ่มขึ้นในการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพสู่การเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” ทั้งนี้จากนโยบายดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้รับอานิสงส์ตามมาด้วย โดยจากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจจากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเกษตรมีอัตราเติบโตสูงสุดและเป็นธุรกิจดาวเด่นในไตรมาสแรกของปี 2564 โดย 5 อันดับแรกที่มีอัตราเติบโตสูงสุดได้แก่ 1.ธุรกิจให้เช่าและการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรและการป่าไม้ (เช่น บริการให้เช่ารถแทรกเตอร์ รถแม็คโคร เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 70 ราย เพิ่มขึ้นถึง 69 เท่า 2.ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ จำนวน 499 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 54 เท่า 3.ธุรกิจสนับสนุนการผลิตพืชผลซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (เช่น การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การให้ปุ๋ย การดูแลรักษาที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเพื่อการใช้งานทางการเกษตร) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 367 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 32 เท่า 4. ธุรกิจปลูกมันสำปะหลัง มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 33 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 32 เท่า และ 5. ธุรกิจควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูพืช มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 119 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23 เท่า โดยจากโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดกลางถึงเล็ก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้ จึงเกิดเป็นเทรนด์บริการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตร เช่น ระบบจองโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร เพื่อให้สามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้แนวนโยบาย ‘ตลาดนำการผลิต’ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสู่การให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร “แนวทางเหล่านี้จะเป็นเข็มทิศตอบโจทย์กับกลุ่มคนที่จะเข้าสู่วงการเกษตร และต้องการยกระดับการเกษตรของไทยไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเกษตร ที่มุ่งการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ด้วยการแก้ไขปัญหาในแนวคิดเกิดรูปแบบธุรกิจแนวทางใหม่ และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เปลี่ยนวิกฤตจากโควิด เป็นตัวเร่งสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ให้ทางการเกษตร เพื่อจะได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”