จากกรณีสยามรัฐออนไลน์ ได้เปิดภาพปอดคนติดโควิด ที่ฉีดวัคซีน กับไม่ฉีด ต่างกันอย่างไร ซึ่งเผยแพร่โดยมูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยมีศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นประธานมูลนิธิฯ พร้อมทั้งระบุข้อความว่า...ภาพคอมพิวเตอร์ปอดที่ไม่มีการอักเสบจะโปร่งและใส ส่วนภาพคอมพิวเตอร์ปอดอักเสบจะเป็นฝ้าขาว เนื่องจากมีน้ำเหลืองจากการอักเสบ และมีเม็ดเลือดขาวมาออกันอยู่ในปอดมาก ทำให้ปอดดูเป็นฝ้าทึบ โควิด – 19 เป็นเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจส่วนบนคือ จมูก – ลำคอ-หลอดลมลงสู่ปอด
ล่าสุด รศ. ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant(อาจารย์เจษฎ์)โดยมีข้อความระบุ ว่า..ภาพเปรียบเทียบปอด ระหว่างคนที่ฉีดและไม่ได้ฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 นี้ เป็นข่าวปลอมนะครับ !!
เมื่อวานนี้มีหลายสำนักข่าวเลยที่เผยแพร่ภาพนี้ ซึ่งแชร์ส่งต่อกัน หรือแม้กระทั่งนำไปโพสต์ในเพจทางด้านสาธารณสุขหลายแห่ง ว่าเป็น "ภาพ CT scan คอมพิวเตอร์ รูปปอดในคนที่ติดโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีน กับไม่ฉีดวัคซีน โดยระบุทำนองว่า มีแพทย์ชาวอินเดียเผยแพร่ภาพ CT scan ปอดของคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (รูปปอดด้านซ้าย) ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีการอักเสบ ปอดดูจะโปร่งและใส ส่วนภาพคอมพิวเตอร์ปอดอักเสบ ของคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะเป็นฝ้าขาว เนื่องจากมีน้ำเหลืองจากการอักเสบ และมีเม็ดเลือดขาวมาออกันอยู่ในปอดมาก !!
แถมด้วยแคปชั่นประกอบว่า " เห็นหรือยังว่าทำไมคุณถึงควรจะฉีดวัคซีนเมื่อยังมีโอกาสอยู่ ลองดูภาพ CT scan ของผู้ป่วยที่ติดโรคโควิด-19 สองรูปนี้สิ ว่าต่างกันอย่างไร ? คุณหมอสุมิท เค ดับบี้ Sumit K Dubey ได้แชร์รูปนี้บนทวิตเตอร์" !?
แม้ว่าภาพลักษณะเช่นนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกหวาดกลัวกับการติดเชื้อไวรัสโรค covid-19 จนปอดอักเสบรุนแรง และอยากจะฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ก็ขอเตือนก่อนนะครับว่า ภาพนี้เป็นข่าวปลอม ที่เผยแพร่กันอย่างไวรัลในต่างประเทศ และระบาดมาถึงไทยแล้ว !! (สังเกตว่า อุตส่าห์มีการทำกราฟฟิกภาษาไทย ประกอบลงไปในภาพด้วย)
ถ้าได้นำรูปนี้ไปตรวจสอบด้วย google จะพบว่ามีการรายงานไว้แล้ว ว่ารูปดังกล่าวไม่ใช่ผลของการทำ CT scan คนที่ฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 (เช่นที่เพจ Factly.in ดูลิงค์ด้านล่าง) เพราะจริงๆแล้วรูปนี้ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนเมษายน ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2020) เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยโดยโรงพยาบาล the Vancouver Hospital มหาวิทยาลัย British Columbia University ร่วมกับสถาบัน the Vancouver Coastal Health Research Institute ประเทศแคนาดา เพื่อเอาภาพ CT scan มาช่วยทำนายการติดโรคโควิด-19 (ดู https://www.richmond-news.com/.../new-research-aims-to...)
ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน 2020 นั้น ยังไม่มีการเริ่มฉีดวัคซีนโรค covid-19 ที่ไหนเลย !!
ดังนั้น แม้รูปภาพปอดดังกล่าว จะมีประโยชน์ในการรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนก็ตาม แต่ต้องยอมรับความจริงว่า มันไม่ถูกต้องที่จะบอกว่า เป็นภาพปอดของคนที่ฉีดวัคซีน แล้วติดเชื้อโรคโควิด-19 (เพราะจริงๆ เป็นภาพของปอดของคนปกติทั่วไป ... และถึงเราฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม สภาพปอดก็จะมีความเสียหายเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่าคนที่เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง จากโรคโควิด 19)
ข้อมูลจาก https://factly.in/this-ct-scan-report-does-not-represent.../ และ https://m.merdeka.com/.../cek-fakta-tidak-benar-foto-ini...