วันที่ 14 พ.ค.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด กรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวและรายการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นเท็จ คลาดเคลื่อนอย่างซ้ำซาก ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ควรจะเป็นสื่อต้นแบบที่สังคมไว้วางใจและคุ้มค่ากับเงินภาษีที่รัฐจ่ายให้ปีละกว่า 2,000 ล้าน
สำหรับการเสนอข่าวและรายการที่กลายเป็นเฟกนิวส์มี 4 เรื่อง คือ 1.การนำเสนอสกู๊ปข่าวรายงานตัวเลขที่ผิดพลาดหลายจุดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 2.การแปลข่าวชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำมายังประเทศไทยอย่างผิดๆ 3.การปล่อยให้ผู้ดำเนินรายการ “คุยให้คิด” กล่าวหา รมว.สาธารณสุขว่าขัดขวางไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 และ 4.ล่าสุดผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวได้เผยแพร่ข่าวหญิงสาวที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี แอบอ้างภาพของผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยา มีผื่นแดงเต็มตัว มาเผยแพร่ควบคู่กันจนเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งชี้ให้เห็ฯว่าไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมอย่างมาก
ซึ่งการเสนอข่าวที่ผิดพลาดในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพในการทำงานของสื่อไทยพีบีเอสที่อาจขาดความเที่ยงตรงและความรับผิดชอบต่อสาธารณชนโดยชัดแจ้ง อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.43(1) ประกอบ ม.42(1)(2) แห่งพรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ 2563 ข้อ 5 (5.1, 5.2) ข้อ 7 (7.2) และข้อ 13 13.2) และข้ออื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังเป็นการการทำที่อาจขัดต่อกฎหมายและหรือขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีอำนาจดำเนินการตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.40 ประกอบ ม.39 รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 2553 ประกอบธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2563 อีกด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช.เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้บริหารหรือกองบรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามครรลองของกฎหมายต่อไป นอกจากนั้น สมาคมฯยังได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการนโยบายว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริหารและกองบรรณาธิการข่าวในการประเมินผลงานประจำปี ตาม ม.50 หรือไม่ และขอให้พิจารณาปรับลดเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้ไทยพีบีเอสให้ลดลง เพื่อนำไปปรับเป็นรายได้ของแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น