15 พฤษภาคม เมื่อปีที่แล้ว 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 7) มีคำสั่งให้ “คลายล็อก” มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่สอง สร้างความดีใจกันถ้วนหน้าต่อทุกๆฝ่าย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน รวมทั้งสถิติผู้เสียชีวิตภายในประเทศตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา “ลดลง” อยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง ทว่า ในวันนี้ ในปีนี้ 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย กลับตาลปัตร พลิกจากหน้ามือ เป็นหลังมืออย่างสิ้นเชิง ! เพราะไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นอย่างหนัก และต่อเนื่อง จนทำให้ไทยเข้าสู่การระบาดในรอบที่ 3 เท่านั้น แต่ยังดูเหมือนว่าผู้คนในสังคม ตลอดจน “รัฐบาล” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่างกำลังเผชิญหน้ากับ “ความท้าทาย” และ “แรงกดดัน” อย่างหนักหน่วง เสียงชื่นชมจากนานาประเทศที่รัฐบาลเคยได้รับเมื่อปี2563 หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของไทยอยู่ในระดับต่ำ ตัวเลขหลักสิบ แต่วันนี้เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันทะยานพุ่งไปอยู่ที่ “หลักพัน” ขณะเดียวกัน มีผู้เสียชีวิต หลักสิบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังพบว่า การบริหารจัดการของรัฐบาล ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากฝ่ายค้าน ไปจนถึงประชาชนในสังคม จนอยู่ในภาวะที่เรียกว่า โดนกระหน่ำทั้งไวรัสโควิด ควบคู่ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 3 กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ทำเอารัฐบาล “นั่งไม่ติด” นับตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เม.ย.64 พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดด จากหลักสิบในแต่วัน ทะยานไปสู่ หลักร้อย และหลักพัน ภายในเวลาอันรวดเร็ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เมื่อผ่านพ้นเทศกาลวันหยุดสงกรานต์เป็นต้นมา ยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาล ประเมินสถานการณ์ชนิดที่ต้องยอมรับว่า “พลาดอย่างแรง” เนื่องจากไม่มีการสั่งห้ามการเคลื่อนย้ายของผู้คน ทั้งที่รู้ว่า เมื่อประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว แม้จะมีคำสั่งห้ามสาดน้ำ เล่นสงกรานต์ก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขยายวงกว้าง เกิดเป็น “คลัสเตอร์ใหม่” หลายจุด ทั่วประเทศ จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผิดพลาดของรัฐบาล จึงไม่เลือกสั่งให้มีการล็อคดาวน์ก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้ทำให้รัฐบาลถูกโจมตี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตัดสินใจใช้ “ยาแรง” ทั้งที่ในห้วงเวลานั้นมีเสียงขานรับจากผู้คนในสังคมไม่น้อยที่หวังจะได้ฟังคำสั่งล็อคดาวน์จากรัฐบาล แต่แล้วเมื่อ ไม่มีการตัดสินใจจากรัฐบาล แล้วต่อมาเกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องจนลุกลามเข้าสู่ระลอกที่ 3 จึงทำให้ความเชื่อมั่น ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล พลิกไปสู่จุดที่เริ่มสั่นคลอน ต่อมาเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัส เข้าโจมตีประชาชนทั่วประเทศ เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะคลัสเตอร์จาก สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และอีกหลายจุด ได้ดึงให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ไปถึงจุดพีก ขณะที่กระบวนการรับ -ส่ง ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาล กลับติดขัด จนมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน ไม่ทันได้เข้ารับการรักษา สถานการณ์ของรัฐบาลจึงเข้าสู่ภาวะวิกฤตศรัทธา อย่างช่วยไม่ได้ ! อย่างไรก็ดี การจัดการกับสถานบันเทิง ตลอดจนปัญหาการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย ยังกลายเป็น “คำถาม” ที่กดดันพล.อ.ประยุทธ์ และ “ฝ่ายความมั่นคง” เรื่อยมาว่า การดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นมีความเด็ดขาดมากพอแล้วหรือไม่ เพราะลำพังเพียงแค่การสั่งปิดสถานบันเทิง การดำเนินคดีกับบุคคลบางส่วน ก็ยังไม่ใช่ “ตัวจริง” เสียทีเดียว การจัดการปัญหาด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในมือของรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับถูกตั้งคำถามและทำให้เกิดข้อกังขา ขณะที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อย สนับสนุนให้รัฐบาล “จัดหนัก”กับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ละเมิดอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนนำไปสู่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นจำเป็นที่ต้องบาลานซ์ “ด้านสาธารณสุข” ไปพร้อมกับ “มิติเศรษฐกิจ” นั่นคือการที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงปากท้อง ของผู้คนในสังคม โดยหากจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกมายอมรับว่า เขาเองรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้ง ที่ต้องใช้ยาแรง ออกมาตรการที่เข้มข้น เพราะรู้ดีว่าจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ กันถ้วนหน้า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พยายามบาลานซ์ ทั้งการสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ แต่ยังดูเหมือนว่ายังไม่เข้าเป้านัก มิหนำซ้ำ สถานการณ์ยิ่งดิ่งลงเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 รอบที่ 3 ยังยืดเยื้อ ไม่อาจหยุดยั้งได้ จากการเปิดเผยล่าสุดของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่า ผลพวงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ช่วงเดือนเม.ย. ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวทั้งระบบ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยช่วงเดือนเม.ย.ถือว่าต่ำสุดนับแต่มีการทำการสำรวจ ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่า การระบาดในรอบนี้อาจทำให้ภาคธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และส่งผลไปสู่การเกิดหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้นตามไปด้วย "ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนเมษายน อยู่ที่ 27.1 ถือว่าเป็นจุดที่ต่ำที่สุดตั้งแต่การทำผลสำรวจนี้ และการสำรวจจากหอการค้าจังหวัดต่างๆ ในเรื่องของเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม พบว่ามีประมาณร้อยละ 78.3 ที่ตอบว่าสถานการณ์ในรอบนี้แย่ลง ซึ่งทางหอการค้าก็คาดการณ์ว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น ในเรื่องของการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การฉีดวัคซีนในต่างประเทศ และการฉีดวัคซีนในไทย” ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ นั่นหมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มดีขึ้น หากรัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ เพราะไม่เช่นนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา จะกลายเป็นว่า “เจ็บหนักกว่าเดิม”หรือไม่ และแนวทางการคลี่คลายวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญคือโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไร ให้ประชาชนพลเมืองในประเทศ สามารถได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด กระจายกันออกไปให้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พล.อ.ประยุทธ์ จึงปรับโหมดเข้าสู่เชิงรุก ยกเอาการฉีดวัคซีน ขึ้นมาเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมทั้งรณรงค์ เชิญชวน ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน โดยให้ความเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่รัฐบาลสั่งเข้ามานั้นมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน การรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีนต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเรื่องการกระจายการฉีดวัคซีน ตามจุดต่างๆให้ครอบคลุมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้ว เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชน ทั้ง 50 ล้านคน ให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ 2564จะเป็นไปได้ยาก การเร่งเดินหน้าเพื่อคลี่คลายวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล กำลังถูกไล่หลัง ตามมาด้วยปัญหาทางการเมืองที่พร้อมจะ “ถล่ม” รัฐบาลและตัวพล.อ.ประยุทธ์ ได้ทุกเมื่อ และยิ่งเมื่อวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรในราวปลายเดือนพ.ค.มาถึง “6พรรคฝ่ายค้าน” ก็เตรียมชำแหละทุกความผิดพลาดของรัฐบาล กลางสภาฯ อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งหลายทั้งปวง หากพล.อ.ประยุทธ์ มองย้อนกลับไป อาจพบว่าในระหว่างทางของการรบรากับวิกฤตไวรัสโควิด-19 นั้น มีหลายครั้ง หลายคราว เปิดโอกาส ให้ได้ตัดสินใจ ใช้ความเด็ดขาด โดยไม่ต้องนำพาต่อเสียงวิจารณ์จนเสียงานใหญ่ แต่เมื่อ “โอกาส”ผ่านเลยไป การตัดสินใจที่เด็ดขาดไม่เกิดขึ้น เมื่อมาถึงวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จึงคล้ายกับว่า “เจ็บ” แต่ก็ยัง “ไม่จบ” อย่างที่เห็น !