เป็นการต่อลมหายใจของประชาชนอีกเฮือกกับการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลในการที่จะช่วยเหลือประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงเงินที่รัฐบาลเหลืออยู่ประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้รัฐบาล 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เพราะจากการเปิดเผยของ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 และ 39.4 จาก 40.4 และ 41.5 บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับภาวะการครองชีพ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย. 2564 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำรวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ที่ลดลงอยู่ที่ 40.7 และ 30.2 จาก 45.6 และ 33.1 ในเดือนมี.ค. 64 ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องไปกับความเปราะบางในตลาดแรงงานที่สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนก.พ.64 อยู่ที่ 310,031 คน เมื่อเทียบกับ 151,802 คน ในเดือนก.พ. 63 จึงเป็นการบ้านที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขก่อนที่ดิ่งลงไปมากกว่านี้!! ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ผ่านมาได้ไฟเขียวเงินบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เพิ่มวงเงินให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในโครงการเราชนะ และ ม33 เรารักกัน คนละ 2,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 2 งวด งวดละ 1,000 บาท สำหรับการโอนเงินของทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีดังนี้ “โครงการเราชนะ” โอนเงินเข้าแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท ,“โครงการเราชนะโอนเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท , “โครงการเราชนะ (กลุ่มเปราะบาง)” โอนเงินวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท , “โครงการ ม33 เรารักกัน” โอนเงินเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000 บาท ทั้งนี้ทุกโครงการสามารถสะสมยอดใช้จ่ายได้ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมดำเนินการอีก 4 มาตรการ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 ได้แก่ คนละครึ่ง เฟส 3,โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ,โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ,โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ทั้ง 4 มาตรการดังกล่าว ประชาชนจะสามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียง 1 คนต่อ 1 โครงการเท่านั้น นับเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินก้อนสุดท้ายที่รัฐบาลใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิด-19!!! ขณะที่ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ โดย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จัดช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้จัดรถ Mobile ทั้งหมด 730 คัน ตระเวนไปตามจุดและชุมชนต่างๆ เข้าไปในชุมชนประมาณ 400-500 ชุมชน ซึ่งมีสินค้าราคาถูกประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.สินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค 6 ชนิด ได้แก่ 1.ข้าวสารถุงเป็นข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 30 บาท 2.ไข่ไก่ เบอร์ 3-4 แผงละ 30 ฟอง ราคา 83 บาท ตกฟองละ 2.77 บาท 3.น้ำมันพืชขนาด 1 ลิตร ขวดละ 43 บาท 4.น้ำตาลถุงละ 1 กิโลกรัม 20 บาท 5.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองละ 5 บาท และ 6.ปลากระป๋อง กระป๋องละ 12 บาท และ 2.สินค้าอุปโภคบริโภค 6 หมวด ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปมี 11 รายการลดสูงสุด 33% ซอสปรุงรส 16 รายการ ลดสูงสุด 28% ของใช้ประจำวัน 16 รายการ ลดสูงสุด 50% สินค้าสำหรับชำระร่างกาย 4 รายการลดสูงสุด 60% สินค้าสำหรับการซักล้าง 23 รายการ ลดสูงสุด 54% และยา 3 รายการ ลดสูงสุด 23% โดยภาพรวมสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค 6 หมวดนี้ ลดราคาเฉลี่ยสูงสุด 60% กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มดำเนินการออกให้บริการพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 400-500 ชุมชนตั้งแต่วันนี้ (10 พ.ค.) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 8 มิ.ย.2564 เป็น เวลา 30 วัน คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท"นายจุรินทร์กล่าว พร้อมทั้งรับความร่วมมือจากตลาด ทั้งหมด 7 ตลาด ได้แก่ 1.ตลาดสี่มุมเมือง 2.ตลาดไท 3.ตลาดยิ่งเจริญ 4.ตลาดมีนบุรี 5.ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต 6.ตลาดเสรีสายห้า และ7.ตลาดบางใหญ่ ใช้รถพุ่มพวง นำสินค้าจากตลาดออกไปจำหน่ายให้กับประชาชน เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ไม่ต้องเดินทางมาตลาด และช่วยลดภาระค่าครองชีพด้วย เป็นการวัดดวงรัฐบาล “ลุงตู่” ว่าจะพลิกวิกฤติในครั้งนี้ได้หรือไม่!?! เงินก้อนสุดท้าย 200,000 – 300,000 แสนล้าน จะส่งผลไปทิศทางใด? ลุ้นกับแบบหายใจรดต้นคอ!!!