บทความพิเศษ/ ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงกรต่างประเทศ
“อุบลราชธานี” เป็นจังหวัดที่ได้รับ “แสงแรกของสยาม” เพราะตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศจึงสามารถเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นได้ก่อนใครที่ผาชนะไดในทุกเช้า จังหวัดมีความโดดเด่นอันเนื่องจากทัศนียภาพที่หลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และมีพื้นที่กว้างขวางถึง 25 อำเภอ จึงเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ติดกับสปป.ลาวถึง 3 แขวง ได้แก่ แขวงจำปาสัก แขวงสาละวัน และแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นสายน้ำที่เชื่อมสองประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้วัฒนธรรมของทั้งสองฝั่งมีต้นทุนร่วมกัน ทั้งอาหาร ภาษา ประเพณี และที่สำคัญมีวิถีชีวิตที่อิงอาศัยกันด้วย
ตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีและแขวงจำปาสัก คือ การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ประสงค์เข้าไปเยี่ยมชมธรรมชาติ ภูเขา น้ำตกในที่ราบสูงบอละเวนในแขวงจำปาสัก ซึ่งเดินทางผ่านแวะพักค้างคืนรับประทานอาหารและจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และประชาชนในแขวงจำปาสักก็เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อซื้อข้าวของ ใช้บริการทางการแพทย์ และพักผ่อนสันทนาการในจังหวัดอุบลราชธานีอย่างเป็นปกติ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้แก่ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องอย่างเป็นระบบ
แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ทำให้การท่องเที่ยวและไปมาหาสู่กันได้ชะลอตัวลง ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในอุบลฯ รายหนึ่งกล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมที่พักประสบปัญหาเป็นอย่างมากอาจเป็นเพราะมาตรการของทั้งสองประเทศที่ชะลอการเดินทางของประชาชนในห้วงการแพร่ระบาดและความกริ่งเกรงโรคของนักท่องเที่ยวเอง ทำให้การเข้าพักลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสวนทางกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ธุรกิจโรงแรมถือว่ารุ่งเรือง ผู้ประกอบการท่านนี้ยังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงประเด็นผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อวิถีชีวิตของคนสองฝั่งโขงว่า เมื่อก่อนจะไปมาหาสู่กันเป็นประจำเปรียบเสมือนเป็นญาติกัน เมื่อมีงานบุญประเพณีจะมาช่วยเหลือกันเสมอ ทั้งยังมีประเพณีที่ร่วมกันจัด เช่น การแข่งเรือยาวหรือประเพณีบั้งไฟพญานาค เพื่อกระชับความสัมพันธ์ วัฒนธรรมเหล่านี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้กับทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้านบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ต้องชะลอไปชั่วคราวเพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19
“มุกดาหาร” แม้จะเป็นจังหวัดใหม่เพราะเพิ่งแยกตัวออกจากนครพนมเมื่อปี 2525 แต่ก็มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่เชื่อมโยงไทยกับ สปป.ลาว เข้าด้วยกันตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเมียนมา ไทย สปป.ลาว เวียดนามเข้าด้วยกัน และมีศักยภาพที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น จีนได้อีกด้วย โดยภายหลังที่สะพานสร้างเสร็จในปี 2549 ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว มีคนไทยประมาณ 1 แสนคน เดินทางไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาว และเวียดนามทางเส้นทางนี้
นอกจากนี้มุกดาหารถือเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเริ่มมีการลงทุนจากนายทุนรายใหญ่ ซึ่งรูปแบบการลงทุนไม่ใช่การขยายตลาดในจังหวัดมุกดาหารเท่านั้น แต่จะใช้มุกดาหารเป็นฐานเพื่อรุกเข้าไปเจาะตลาดในลาวและเวียดนามอีกด้วย มุกดาหารเป็นจังหวัดเดียวในชายแดนไทย-ลาว ที่ได้จัดทำความตกลงเมืองคู่แฝดกับแขวงที่อยู่ติดกัน ซึ่งในที่นี้คือ แขวงสะหวันนะเขตที่มีขนาดและจำนวนประชากรมากที่สุดใน สปป.ลาว
“พรพิมล” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เธอเป็นคนมุกดาหารมาแต่กำเนิดเห็นการเจริญเติบโตของมุกดาหารมาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่เธอเห็นประจำจนเป็นเรื่องชินตาคือ คนจากทั้งสองฝั่งจะไปมาหาสู่กันเป็นประจำซึ่งเมื่อก่อนใช้การเดินทางด้วยเรือโดยสารภายหลังมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ทำให้คนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น มีการข้ามฝั่งกันมาท่องเที่ยว ทำธุรกิจ หรือมารับการรักษาพยาบาล เธอมักจะเห็นรถยนต์ที่ระบุป้ายทะเบียนว่ามาจาก สปป.ลาวจอดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของมุกดาหารเสมอ
“พรพิมล” เห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่งต่างพึงพาอาศัยกันอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรมและโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้กับคนทั้งสองฝั่ง เช่นคนลาวที่เป็นพ่อค้า-แม่ค้าที่มีร้านค้าในฝั่งลาวจะข้ามฝั่งมาไทยเพื่อซื้อสิ้นค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าขายส่งในมุกดาหารเพื่อนำไปจำหน่ายในฝั่งลาว แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้คนทั้งสองฝั่งไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้เหมือนเมื่อก่อนจากเมืองที่มีความคึกคักกลับเงียบเหงา ร้านค้าที่มีผู้คนเดินไปมาจนดูวุ่นวายก็เหลือคนเพียงประปรายเท่านั้นร้านค้าบางร้านที่ไม่สามารถทนกับผลกระทบจากโควิดได้ก็ต้องปิดตัวไปบางส่วน ร้านค้าที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องปรับตัวโดยการสต๊อกสินค้าให้น้อยลง แรงงานชาวลาวที่เคยข้ามมาทำงานในฝั่งไทยทั้งระยะยาว และมาเช้า-เย็นกลับก็ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้เหมือนเมื่อก่อน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของมุกดาหารก็ต่างได้รับผลกระทบเพราะขาดแคลนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพราะกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด โดยเธอหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลายในเร็ววันให้ทั้งสองประเทศกลับมาใช้ชีวิตได้ร่วมกันได้อย่างปกติเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
สภาพการณ์ต่างๆ ที่เล่ามานี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะระหว่างประชาชนจากการเล่าสู่ของคนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการไปมาหาสู่ การค้าชายแดน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่จะดำเนินงานอย่างสุดความสามารถต่อไป ในความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน และคนทั้งสองฝั่งโขงสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา