สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต วัดสำนักขุนเณร ต.วังงิ้ว อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร พระอมตะเถระผู้มีบารมีธรรมสูงส่ง มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี มีวาจาสิทธิ์ และเปี่ยมด้วยพุทธาคมเป็นที่กล่าวขาน สั่งสมคุณูปการยิ่งยวดต่อพระบวรพุทธศาสนา วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสมและเลิศด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ โดยเฉพาะ “รูปหล่อพิมพ์หน้าลิง” ที่นับเป็นสุดยอดและหาของแท้ได้ยากยิ่ง ณ ปัจจุบัน
หลวงพ่อเขียน เดิมชื่อ เสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน 4 ปีขาล ปี พ.ศ.2399 ที่บ้านตลิ่งชัน ต.ชอนไพร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทอง-นางปลิด มีพี่น้อง 5 คน ท่านเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน อายุได้ 12 ปี ก็เกิดศรัทธาอยากบวชเป็นสามเณร จึงขออนุญาตบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.2411 ที่ วัดทุ่งเรไร ศึกษาอักขรสมัยกับท่านสมภารพออ่านออกเขียนได้ และได้ศึกษาภาษาขอมควบคู่ไปด้วย ความที่ท่านมีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ถูกใจท่านสมภาร ท่านสมภารจึงเปลี่ยนชื่อจาก “เสถียร” เป็น “เขียน” นับแต่นั้นมา สามเณรเขียนอยู่ในสมณเพศจนอายุใกล้จะอุปสมบท ได้ลาสิกขาออกมาระยะหนึ่งจนอายุครบบวชในปี พ.ศ.2420 จึงเข้าอุปสมบท ณ วัดภูเขาดิน จ.เพชรบูรณ์ มี พระอาจารย์ประดิษฐ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์สอน กับ พระอาจารย์ทองมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายา “ธัมมรักขิโต”
หลังจากอุปสมบทได้เพียง 1 พรรษา บิดามารดามาขอให้สึกเพื่อจะให้แต่งงานกับหญิงสาวผู้ที่ท่านทั้งสองหมายตาไว้ แต่หลวงพ่อปฏิเสธไป และเพื่อให้พ้นความยุ่งยากจึงออกเดินทางไปเยี่ยมญาติ ที่ บ้านวังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ขณะนั้นทางวัดขาดพระภิกษุอยู่จำพรรษา กำนันจึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษา ณ ที่นั้น ต่อมาท่านได้เดินทางไปศึกษาปริยัติธรรม ที่ วัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี กับ พระอาจารย์ทอง อยู่ 9 พรรษา แล้วลาพระอาจารย์ไปศึกษาต่อ ที่ วัดรังษีสุธาวาส บางลำพู กรุงเทพฯ มี เจ้าคุณธรรมกิตติ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระอยู่นานถึง 16 พรรษา จนเมื่อวัดรังษีจะโอนจาก ‘มหานิกาย’ เข้าเป็น ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ท่านจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดเสาธงทองอีกครั้ง จำพรรษาได้ 9 พรรษา กำนันตำบลวังตะกูและญาติโยมได้นิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดวังตะกู ซึ่งหลวงพ่อก็รับนิมนต์
ตลอดระยะเวลาที่จำพรรษา ณ วัดวังตะกู เกือบ 30 ปี หลวงพ่อเขียนได้สร้างปาฏิหาริย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวาจาสิทธิ์ อยู่ยงคงกระพัน ฯลฯ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เดี๋ยวคนนั้นเอานั่นมาให้ คนนี้เอานี่มาให้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์นานา ชนิด จนทางวัดมีสัตว์เป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.2484 มีพระอาจารย์รูปหนึ่งเดินทางมาจาก จ.นครราชสีมา มาขอพักอยู่ที่วัดวังตะกู ครั้นนานเข้าชาวบ้านนับถือมากขึ้น จึงตั้งตัวเป็นเจ้าอาวาส และแสดงออกถึงความต้องการขับไล่หลวงพ่อเขียนในทางอ้อม แต่ท่านก็ทนอยู่ได้โดยใช้ขันติธรรม จนเมื่อปี พ.ศ.2491 กำนันเถาว์ ทิพย์ประเสริฐ บ้านสำนักขุนเณร ผู้เคารพนับถือหลวงพ่อมาก เดินทางมาพร้อมกับคณะทายก อุบาสก อุบาสิกา นิมนต์หลวงพ่อไปจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณร ซึ่งห่างไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยรับปากจะช่วยกันสร้างกุฏิให้พอเพียงกับพระสงฆ์ที่จะติดตามมา พร้อมสร้างคอกสำหรับสัตว์ต่างๆ ท่านจึงรับนิมนต์ไปอยู่ วัดสำนักขุนเณร พร้อมม้า 70 ตัว และสัตว์ต่างๆ อีกหลายชีวิตนับแต่นั้นมา
เมื่อมาปกครองดูแลวัดสำนักขุนเณร หลวงพ่อเขียน พร้อมด้วยกำนันเถาว์และญาติโยม ก็ได้ช่วยกันก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด ทั้ง หอสวดมนต์ หอประชุมสงฆ์ อุโบสถและพระประธาน ศาลาการเปรียญ ฯลฯ รวมทั้งสะพานข้ามคลอง เพื่อเชื่อมวัดกับหมู่บ้าน นอกจากนี้ ท่านยังให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เมื่อกำนันเถาว์ ยกที่ดินให้เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน ท่านก็ได้มอบปัจจัยจำนวน 150,000 บาทแก่ทางราชการ เพื่อสมทบในการก่อสร้างอาคารเรียนแห่งนี้ เมื่อโรงเรียนสร้างเสร็จ ทางราชการจึงได้ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนวัดสำนักขุนเณร (หลวงพ่อเขียนอุทิศ)” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีและเมตตาธรรมของท่าน
หลวงพ่อเขียน มรณภาพเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2507 สิริรวมอายุถึง 108 ปี 87 พรรษา นับเป็นพระเกจิที่มีอายุยืนยาวมาก และแม้จะมรณภาพไปแล้ว อำนาจจิตของท่านก็ยังสร้างปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาจนเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านบางมูลนากและชาวเมืองพิจิตรมาตราบเท่าทุกวันนี้
หลวงพ่อเขียน ได้จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังมากมาย ทั้ง รูปบูชา รูปหล่อ รูปเหมือนปั๊ม พระผง มีดหมอ พระกริ่ง เหรียญ ล็อกเก็ต แหวน ผ้ายันต์ สิงห์งาแกะ ฯลฯ สำหรับแจกจ่ายแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยม เพื่อเป็นสิริมงคลและปกป้องภยันตรายต่างๆ กล่าวกันว่า วัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณเทียบเท่ากับ หลวงพ่อเงิน บางคลาน ทีเดียว โดยเฉพาะ “รูปหล่อพิมพ์หน้าลิง” ที่ออกในราวปี พ.ศ.2496 โดยที่ไปที่มาของชื่อนั้นมาจากหลวงพ่อเขียนเอง เพราะเมื่อทำการหล่อรูปเหมือนเป็นที่เรียบร้อย คณะกรรมการได้นำมาให้หลวงพ่อดู ท่านก็พูดว่า “หน้าคือลิงน้อ” แล้วก็หัวเราะ ทางคณะกรรมการถือเป็นสิริมงคล จึงใช้เรียกชื่อพิมพ์สืบกันมา
อย่างไรก็ดี “รูปหล่อพิมพ์หน้าลิง หลวงพ่อเขียน” นี้ นับว่ามีค่านิยมสูงที่สุดในวัตถุมงคลทั้งหมดของท่าน และเป็นหนึ่งในพระยอดนิยมของจังหวัดที่เป็นที่แสวงหาอย่างมาก แต่หาได้ยากนักครับผม