ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชีวิตของคนเล็ก ๆ มีหลายสิ่งที่ “ใหญ่ ๆ” ให้หลาย ๆ คนทึ่งได้เหมือนกัน น้าละมัยหรือที่คนอื่น ๆ ในบ้านสวนพลูเรียกตามท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า “น้ามัย”เป็นคนสวนเพียงคนเดียวที่ดูแลต้นไม้อยู่ในบ้านสวนพลูทั้งหมด โดยพื้นที่บ้านกว่า 4 ไร่นั้น ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควร แถมเจ้าของบ้านยังเป็นคนรักต้นไม้และปลูกต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ในสายตาของคนทั้งหลายที่ได้เห็นสวนในบ้านสวนพลู อาจจะต้องประหลาดใจว่า สวนและต้นไม้ดอกไม้ที่สวยงามนี้ ไม่น่าจะทำให้สวยงามได้ด้วยมือของคนเพียงคนเดียว ตอนที่ผมเดินเข้าไปในบ้านสวนพลู เพื่อไปเชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเป็นองค์ปาฐกให้แก่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2519 ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง ผมเห็นน้ามัยเดินลากสายยางฉีดรดน้ำต้นไม้อยู่ที่สวนไม้ดัดหน้าบ้าน ผมไปกับเพื่อนนิสิตร่วมคณะอีก 3 คน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้ตอบตกลงตามที่พวกเรามาเรียนเชิญ เพราะรับงานอื่นไว้เสียก่อน แต่ก็ได้สนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่ารถบัสและทุนสำหรับไปปลูกป่าที่จังหวัดปราจีนบุรี ตามที่พวกเราได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการที่มาเรียนเชิญในครั้งนั้น จากนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พาพวกเราชมบ้านสวนพลูในทุก ๆ ห้อง รวมทั้งต้นไม้ต่าง ๆ ตลอดทั้งสวน กว่าจะออกมาจากบ้านสวนพลูก็เกือบหกโมงเย็น ก็ยังเห็นน้ามัยเดินเก็บกวาดใบไม้กิ่งไม้อยู่ แม้จะใกล้มืดค่ำนั้นแล้ว ผมมารู้จักสนิทสนมกับน้ามัยก็ตอนที่ผมมาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในตอนปิดเทอมปีต่อมา ที่ผมได้มาของานทำกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพื่อหารายได้ในช่วงปิดเทอมนั้น หน้าที่ของผมนอกจากจะคอยต้อนรับผู้คนที่เข้ามาในบ้านสวนพลูแล้ว ยังต้องคอยรับคำสั่งจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ท่านจะบอกให้ผมไปบอกกับน้ามัย เพื่อจัดการอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ดอกไม้ในบ้านสวนพลู เช่น ยกกระถางต้นไม้บางต้นมาให้ท่านดู หรือมาช่วยท่านปลูกต้นไม้ ปรับแต่งต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งในเวลาว่าง ๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะชอบปลูกต้นไม้ เพาะกล้าต้นไม้ ตกแต่งเลาะเล็มกิ่งไม้ดัด และนำต้นไม้ดอกไม้มาจัดบ้าน โดยมีน้ามัยเป็นผู้ช่วย และนี่เองที่ทำให้บ้านสวนพลูดูรื่นรมย์และต้นไม้ดอกไม้ในบ้านสวนพลูดูสวยงาม ก็เพราะเจ้าของบ้านเอาใจใส่ดูแลด้วยตัวของท่านเองนี่เอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องมี “คนสวนที่รู้ใจ” อย่างน้ามัยนี้ด้วย น้ามัยแตกต่างจากคนอื่น ๆ ของผู้คนที่ทำงานอยู่ในบ้านสวนพลู ที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากอยุธยา โดยบ้านเดิมของน้ามัยอยู่ที่สระบุรี แต่จะเข้ามาทำงานในบ้านสวนพลูได้อย่างไรนั้นก็ไม่ได้มีใครสนใจซักถาม อีกอย่างหนึ่งด้วยความที่เป็นคน “ต่างถิ่น” กับคนอื่นในบ้านสวนพลูนั้น ทำให้ไม่มีใครไปสุงสิงกับน้ามัยเท่าใดนัก รวมทั้งที่บริเวณ “ที่พัก” ของน้ามัยก็แยกไปอยู่ต่างหากจากคนอื่น เพราะไปปลูกอยู่ “ท้ายบ้าน” ในมุมที่ไม่มีใครสังเกตเห็นได้ จึงทำให้น้ามัยมีชีวิตที่ดูสันโดษมาก ๆ และเป็นคนเดียวในบ้านสวนพลูที่ไม่มีครอบครัว ทั้งยังเป็นคนพูดน้อย จนบางทีผมก็อดนึกเปรียบเทียบกับ “ฤาษี” ที่อยู่ในป่านั้นไม่ได้ แต่นี่เป็นป่าต้นไม้ดอกไม้ในบ้านสวนพลู น้ามัยจึงออกดูจะเป็นคนขลัง ๆ ด้วยความเงียบขรึมและไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับใคร ที่พักของน้ามัย “ซุกตัว” อยู่ในสถานที่ลึกลับมาก ๆ ครั้งแรกที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ผมไปตามน้ามัยให้มาพบ ผมต้องเดินวนเวียนหาทางเข้าอยู่นานพอควร ถ้าใครที่เคยเข้าไปในบ้านสวนพลูจะพบว่า จากประตูไม้หน้าบ้านบ้านเลขที่ 19 ในซอยพระพินิจ ถนนสวนพลู พอเปิดประตูเข้าไปด้านขวาจะเป็นศาลาทรงไทยหลังใหญ่ ที่ท่านเจ้าของบ้านบอกว่าได้แบบมาจากเมืองเก่าสุโขทัย สร้างไว้เพื่อรับรองแขกจำนวนมาก รวมถึงทำบุญเลี้ยงพระ และงานพิธีต่าง ๆ (ผมก็ทำพิธีรดน้ำแต่งงานที่ศาลานี้ และมีอยู่ช่วงหนึ่งหลังอสัญกรรมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ บุตรชายของท่านที่ได้ดูแลบ้านสวนพลูนี้ต่อมา ได้เปิดให้เช่าสถานที่นี้จัดงานต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ และมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก) เดินตรงเข้าอีกไปตามถนนลาดยางผ่านศาลานี้ไป ด้านซ้ายเป็นรั้วบ้านของลูกชายและญาติ ๆ ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ยาวไปประมาณ 60 เมตร ด้านขวาจะเป็นสวนไม้ดัดเชื่อมระหว่างศาลาสุโขทัยกับหมู่เรือนทรงไทย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อาศัยอยู่ พอเลยพ้นหมู่เรือนนี้ไปก็จะเป็นบ่อบัววิกตอเรีย หรือ “บัวกระด้ง” ด้านซ้ายจะเป็นศาลพระภูมิ และจากจุดนี้มองไปทางขวาจะเป็นสนามหญ้าพื้นที่สัก 2 ไร่ มีคลองเชื่อมไปยังบ่อหลังบ้าน โดยมีการปลูกต้นไม้ใหญ่และทำแปลงดอกไม้รายรอบไปตลอดทั่วขอบสนามหญ้า เดินตรงเข้าไปอีกสัก 80 เมตรก็เป็นบริเวณที่พักคนงานหลังบ้าน ซึ่งปลูกเป็นเรือนชั้นเดียว 1 หลัง เรือน 2 ชั้น 2 หลัง หลังใหญ่นั้นด้านล่างเป็นโรงจอดรถ ที่จอดรถได้ 3 คัน หลังเล็กเป็นครัวที่ป้าจำรัสแม่ครัวพักอยู่ที่นี่ (ป้าจำรัสเป็นภรรยาของพี่เชื่อมคนขับรถ “คู่บุญ” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งแยกไปนอนอยู่บนเรือนที่เป็นโรงรถที่อยู่ติดกัน) เลี้ยวขวาจากเรือนครัวจะเป็นสวนครัวปลูกพืชผัก เนื้อที่สัก 2 งาน หลังสวนครัวนี้แหละที่เป็นที่พักของน้ามัย ที่ส่วนตัวผมอยากจะเรียกว่า “อาศรม” มากกว่า ถ้าเดินจากสวนครัวข้างเรือนครัวจะเห็นรั้วต้นไม้รกครึ้ม ซึ่งปกปิดอาศรมของน้ามัยไว้อย่างมิดชิด ต้องเดิมอ้อมแนวรั้วต้นไม้นี้ไปจึงจะเห็นประตูไม้ระแนงกั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง โดยด้านนี้จะเป็นคลองกั้นอาณาเขตกับบ้านเรือนข้างเคียง ที่เชื่อมต่อมาจากบ่อบัววิกตอเรียหลังหมู่เรือนทรงไทยหน้าบ้าน เป็นที่อยู่ของปลาสวายจำนวนมาก และหงส์ขาวและดำอีกอย่างละ 1 คู่ ซึ่งกรงเลี้ยงหงส์จะอยู่ข้าง ๆ อาศรมของน้ามัยนี้เอง โดยได้ต่อเป็นแพลอยอยุ่กลางน้ำ ท่ามกลางร่มไทรต้นใหญ่ปกแคลุมไว้อย่างมิดชิด แพนี้ในเวลาหน้าหนาวที่มีนกอพยพมาจากทางเหนือ จะมีนกน้ำต่าง ๆ มาอาสํยอยู่นับร้อย ๆ ตัว แต่เจ้าของบ้านไม่ค่อยอวดนกพวกนี้กับผู้คนทั้งหลายมากนัก จึงเอามาซ่อนไว้ที่ท้ายสวนหลังบ้าน และให้น้ามัยที่เป็นคนรักสงบอยู่ร่วมด้วยเช่นนี้ ความเงียบของน้ามัยทำให้ใครที่อยากรู้จักต้องค้นหา “ตัวตน” ของแกด้วยการทำงานด้วยกัน