ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยชี้ 2 โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจในระยะถัดไปคือ การพลิกฟื้นธุรกิจด้วย Growth engine ใหม่ๆ และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทสังคมคาร์บอนต่ำ แนะการประเมิน Carbon Footprint เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ พบปัจจุบันยังไม่แพร่หลาย มีเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ และ 151 บริษัทที่ขึ้นทะเบียน นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรชูโมเดล BCG Economy ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สอดรับรัฐสนับสนุน ปูทางกระตุ้น GDP ไทย 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่านอกจากการฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ยังมีอีก 2 โจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจไทย นั่นคือ การสร้าง Growth engine ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทใหม่ๆของโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะมีนัยต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นในอนาคต เช่น ธุรกิจส่งออกอาจเผชิญความท้าทายจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ในปี 2566 ของยุโรป ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากการมุ่งใช้พลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จีน และยุโรป
“ธุรกิจไทยต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลง และบริบทใหม่ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงตื่นตัวมากขึ้นกับการเตรียมพร้อม อาทิ การขึ้นทะเบียนและได้รับฉลาก Carbon Footprint ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ และระดับองค์กร ผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เพื่อรับรู้สถานะ เป็นไปตามเกณฑ์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก และต่อยอดสู่การดำเนินโครงการลดและซื้อขายคาร์บอนได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย ณ ปี 2563 มีการขอรับรอง Carbon Footprint และยังอยู่ในอายุสัญญาเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ และ 151 บริษัท ซึ่งกระจุกตัวในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่”
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่าภาคธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกหน่วยงานของรัฐ เช่น 2 โครงการ จาก อบก. คือ 1) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับคาร์บอนเครดิตและสามารถนำไปใช้ชดเชยระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ให้ลดลง สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และแสดงในรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และ 2) โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand V-ETS) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเข้าใจระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นรูปแบบที่เริ่มนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เกาหลีใต้ และจีนที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2564 นี้
นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่าอีกคำตอบของโจทย์เหล่านี้ คือ การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ภายใต้หัวใจของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐจะใช้ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่ม GDP ไทย 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยหลายอุตสาหกรรมสามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ภาคเกษตรและอาหารอาจเปลี่ยนไปผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก (Plant-based Food) และอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ส่วนธุรกิจพลังงาน วัสดุ และเคมีภัณฑ์ สามารถยกระดับสู่พลังงานหมุนเวียน อาทิ ไฟฟ้าจากชีวมวล ตลอดจนก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น เม็ดพลาสติกหมุนเวียน และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากขยะพลาสติก ทั้งนี้ บทเรียนจากต่างประเทศชี้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันใน Ecosystem