ที่ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ( มทส.) นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. นายณัฐชรัตน์ กฤตธน ประธานศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (IIC) และ ดร.ธนัท เชี่ยวชาญอักษร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ กับ เพื่อประสานความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกัญชง-กัญชาคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น โดยขยายผลการแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ และการสกัดกลั่นสารสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เริ่มจากฐานของงานสร้างเครือข่ายการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ คือ กัญชง-กัญชา ไปสู่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ มทส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสามฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
ภายหลังจากพิธีลงนาม มีการมอบ “ผลผลิตดอกกัญชาแห้ง” จากแปลงฟาร์ม มทส. สำหรับวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมกับ มอบผลผลิตกัญชา ในส่วนของ “ใบ กิ่งก้านต้น ราก” จากแปลงฟาร์ม มทส. สำหรับวิจัยพัฒนาและใช้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาเชิงพาณิชย์ ให้กับ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด รวมทั้งเยี่ยมชมสถานที่ที่จะดำเนินโครงการร่วมกัน เช่น อาคารปฏิบัติการ F-14 เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างห้องสกัดกลั่นสารสำคัญและห้องทดสอบมาตรฐาน (ISO 17025/IEC), พื้นที่อาคารโรงสกัดกลั่น, พื้นที่ปลูกกัญชง-กัญชาในรูปแบบฟาร์มแปลงใหญ่ และพื้นที่แปลงฟาร์ม “คลัสเตอร์กัญชง-กัญชา มทส.” ในโครงการ “ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี”
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ ฯ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด และคณะ เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ด้านงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม และด้านการพัฒนากัญชาระดับคุณภาพ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและจากปัจจัยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและศักยภาพของคณะนักวิจัย ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย “ฝอยทองภูผายล” เมื่อเดือน พฤษภาคม 2563 มาจนถึงปัจจุบัน สามารถเก็บเกี่ยวกัญชาเป็นรุ่นที่ 3 เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลผลิตกัญชาคุณภาพจากสวนเกษตรแปลงฟาร์มของ มทส. ว่าให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูง ไม่มีโลหะหนักและสารปนเปื้อนตกค้าง มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ผ่านการรับรองมาตรฐานผลผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กัญชา ยาแผนไทย และยากัญชาแผนปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมานั้น ได้ส่งมอบให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น อีกทั้งจากการประกาศปลดล็อคกัญชาและกัญชง ในส่วนที่ไม่เป็นสารเสพติด ประกอบด้วยใบ ลำต้น และราก ได้ผลตอบรับสูงมากจากภาคเอกชน ซึ่งได้ติดต่อขอนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างหลากหลายในปัจจุบัน
สำหรับความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีการปลูกกัญชง-กัญชา อย่างครบวงจร เพื่อร่วมสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชง-กัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรอื่นๆ โดยระยะแรก จะเป็นการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการปลูกและการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์กัญชง-กัญชา ที่มีคุณภาพให้ได้ปริมาณสารสำคัญสูง การสกัดกลั่นสารสำคัญ การสร้างมาตรฐานการผลิต รวมทั้งผลักดันเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุข การคิดค้นตำรับยา และการใช้สารสำคัญจากกัญชง-กัญชา ในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ การพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชง-กัญชา และใช้สมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย โดยจะถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยมี ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม (ศูนย์ IIC) บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด และบริษัทในเครือ ให้เข้ามาสนับสนุนร่วมดำเนินการ ผ่านการใช้กลไกความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือสร้างคลัสเตอร์กัญชง-กัญชาคุณภาพ ที่ความเข้มแข็งของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจับคู่ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย สหกรณ์การเกษตร เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หน่วยวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นายณัฐชรัตน์ ฯ ประธานศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม หรือ ศูนย์ IIC กล่าวว่า ภาพความร่วมมือในวันนี้ของทั้งสามฝ่าย จะเกิดเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” และเป็นก้าวย่างที่สำคัญของแปลงฟาร์มกัญชา มทส. ไปสู่ “ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี” ในระดับ “ต้นน้ำ” เกิดเป็น “คลัสเตอร์กัญชง-กัญชา” ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการปลูก ที่ให้ปริมาณสารสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นั่นคือ สาร THC และ CBD โดยกำหนดเป้าหมายที่สำคัญเร่งด่วน คือ การสร้างพื้นที่ มทส.ให้เกิดเป็นชุมชนการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สร้างพื้นที่ปลูกกัญชงและกัญชาในรูปแบบพืชเศรษฐกิจใหม่ฟาร์มแปลงใหญ่ ภายใต้รูปแบบ “BCG Model คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว” หวังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับ Real Sector ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิต ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ หลังสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการ อย่างเป็นรูปธรรม
ผลักดันเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป ให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชง-กัญชา และสมุนไพรบางชนิด ให้ไปสู่ผู้ใช้และไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง นั่นคือ ระดับ “ปลายน้ำ” ซึ่งมทส. มีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร และ บุคลากร โดยจะร่วมมือกับ ศูนย์ IIC และบริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด ในการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่เป็นกลไกสำคัญของการสกัดกลั่นสารสำคัญที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น สารสกัด THC, CBD, CBN, CBG เกิดการต่อยอดถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม นำนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากงานวิจัยพัฒนาไปใช้ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตยา อาหารเสริมสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่มอีกมากมาย รวมถึงการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อันเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ การแพทย์ทางเลือก การแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เกิดประโยชน์ในห่วงโซ่ ทั้ง Supply Chain & Value Chain โดยใช้ความร่วมมือกันของทั้งสามฝ่ายในวันนี้ เป็นบริบทของการขับเคลื่อนต่อไป
ดร.ธนัท ฯ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด และ บริษัท ทีเอ็นเอช สยาม ซีบีดี แอนด์ ทีเอชซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้กล่าวว่า ในฐานะองค์กรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยาสมุนไพรมานานนับสิบปี และผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จำหน่ายในประเทศ และ เพื่อส่งออก กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นมิติที่ก้าวกระโดดของ Ecosystem กับห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ โดย บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด และ บริษัทในเครือ จะใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่กับองค์กรธุรกิจมืออาชีพ ทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และ บริษัทจากต่างประเทศ มาสนับสนุนและดำเนินการด้วย และมีความพร้อมที่จะร่วมมือด้านโครงการวิจัยพัฒนาต่างๆ ร่วมกับบุคลากรของ มทส. และ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด จะประสานการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่เป็นกลไกสำคัญของการสกัดสารสำคัญ เช่น สารสกัด THC, CBD, CBN, CBG ในรูปแบบสารสกัดที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะ CBD Powder Isolate มาตั้งดำเนินการผลิตและแปรรูป ที่ มทส. รวมถึง ความร่วมมือในการผลิตยาน้ำมันกัญชา ตำรับที่มี THC สูง และยาน้ำมันกัญชง ตำรับที่มี CBD สูง สำหรับรักษาผู้ป่วยผ่านช่องทางพิเศษ หรือ กลุ่มผู้ป่วย SAS ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มทส. และในกลุ่มโรงพยาบาลความร่วมมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยฯ สถานพยาบาล และ คลินิกแพทย์แผนไทย
บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด1) สนับสนุนการยกระดับแปลงฟาร์มกัญชาในปัจจุบัน ให้เป็น “ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี” ในระดับ “ต้นน้ำ” เกิดเป็น “คลัสเตอร์กัญชง-กัญชา” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ มทส. และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร, วิสาหกิจชุมชน, กลุ่มนักวิจัยพัฒนา Start Up และ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME 2) นำบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม คือ บริษัท ทีเอ็นเอช สยาม ซีบีดี แอนด์ ทีเอชซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในการยื่นขออนุญาตปลูกกัญชงและกัญชา ร่วมกับ มทส.ตามที่กฎหมายกำหนด ในพื้นที่ “เขตส่งเสริมนวัตกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ แปลงฟาร์มกัญชงและกัญชาขนาดใหญ่ มทส.” ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมถึงการร่วมขออนุญาตปลูกกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างกิจการธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง 3) ร่วมมือวิจัยด้านกัญชง-กัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายใต้แนวคิดธุรกิจแบบห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4) ร่วมมือดำเนินโครงการขออนุญาตปลูกกัญชง-กัญชา กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อนำผลผลิตดอกกัญชาไปผลิตน้ำมันกัญชา “ตำรับเมตตาโอสถ” และผลิตน้ำมันกัญชง “ตำรับการุณย์โอสถ”
5) ร่วมมือในการสร้างห้องปฏิบัติการ (ISO 17025/IEC) สำหรับใช้ตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ ซึ่งเป็นหัวใจหลักและให้บริการแก่สังคมเพื่อตรวจวิเคราะห์ผลผลิตกัญชง กัญชา สมุนไพร และเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยพัฒนาได้มาร่วมใช้6) การสร้างห้องสกัดกลั่นสารจากกัญชง-กัญชา ที่ได้มาตรฐานร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ และ มทส. 7) โครงการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อยกระดับมาตรฐานการนวดไทยและนวดด้วยเวชศาสตร์กัญชา 8) โครงการสนับสนุนโรงพยาบาล มทส. และ สถานพยาบาลอื่น สำหรับเป็นศูนย์รักษาและฟื้นฟูสุขภาพด้วยเวชศาสตร์กัญชา เพื่อบริการแก่ผู้ป่วย และ รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนรายได้ดี ในรูปแบบกลุ่ม (Charter Flight) 9) โครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจใหม่ (กัญชง) ในพื้นที่ สปก.นครราชสีมา ร่วมกับ มทส.เพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ (กัญชง) ของจังหวัดนครราชสีมา และให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน