นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 27 เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดย สศก. ได้ลงพื้นที่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ติดตามประเมินผลโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม (คลอง 5 ซ้าย ระยะ 1) อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 ได้แก่ งานถมดินบดอัดแน่นใหม่พร้อมขุดคูส่งน้ำและดาดคอนกรีต ก่อสร้างอาคารประกอบในคูส่งน้ำ และตกแต่งคันคูส่งน้ำพร้อมปลูกหญ้าเพื่อป้องกันการกัดเซาะ พบว่า เดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกอ้อย นางอัญชนา กล่าวต่อว่า เมื่อมีการก่อสร้างคันคูส่งน้ำเพื่อทำหน้าที่กักเก็บและส่งน้ำเข้าแปลงเกษตร ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อย หรือ ข้าว หันมาปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งได้รับผลตอบแทนเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งต่อปี และมีราคาขายสูง ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 36 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 1,205 ไร่ เกษตรกรใช้น้ำจากโครงการฯ ในการทำการเกษตร เพาะปลูกพืช ดูแลหญ้าเลี้ยงสัตว์สำหรับเลี้ยงโคนม นอกจากนี้ เกษตรกร ในพื้นที่โครงการฯ ทุกราย (36 ราย) ได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นเพื่อร่วมกันวางแผนการใช้น้ำ และดูแลรักษาระบบชลประทาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ และข้าว “ด้านรายได้ พบว่า เกษตรกรที่ปลูกอ้อยโรงงาน ปีเพาะปลูก 2563/64 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,635 บาท/ไร่/รอบการผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน ปีการผลิต 2563 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 12,938 บาท/ไร่/รอบการผลิต อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานครัวเรือนค่อนข้างสูงในการเพาะปลูก หากจ้างแรงงานต้องใช้จำนวนคนมาก และการดูแลต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าอ้อยหรือข้าว นอกจากนี้ เกษตรกรบางรายยังไม่เชื่อมั่นในราคาผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่อาจผันผวนได้ จึงทำให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ถึงแม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2563/64 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,300 บาท/ไร่/รอบการผลิต และข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2563 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,762 บาท/ไร่/รอบการผลิต ในส่วนเกษตรกรที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรได้นำผลผลิตหญ้าที่ปลูก รวมทั้งใช้ยอดฝัก เปลือก และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์” นางอัญชนา กล่าว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพรวมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม (คลอง 5 ซ้าย ระยะ 1) อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ มูลค่าจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน 2.72 ล้านบาท/ปีเกษตรกรมีความพึงพอใจโครงการฯเป็นอย่างมาก เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จากการมีรายได้ที่ต่อเนื่องมากขึ้นนับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินทางการเกษตรในเขตจัดรูปที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ++++++++++++++++