นำร่อง 11 วันก่อนเปิดเทอม 17-31 พ.ค.จัดกิจกรรมเสริม ผ่านเว็บฯครูพร้อม ให้เรียนตามสมัครใจไม่มีให้คะแนน และตั้งแต่เปิดเทอม 1 มิ.ย. จัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ ทั้งเรียนที่รร. เรียนทางไกล เรียนผ่านแอพฯ เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก ร่วมแถลงข่าว “ศธ.รวมพลังจัดการศึกษาปลอดภัยใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม” โดยระบุ ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัด เป็นวันที่ 1 มิ.ย.64 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19ระลอกสามยังรุนแรง เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของบุตรหลาน ศธ.จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง ซึ่ง ศธ.จะจัดทีมพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ครูในการจัดกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องสถานการณ์โควิดเป็นลำดับแรก ระยะที่สอง ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-Site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.), On-Air เรียนผ่าน DLTV, On-Demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ, Online เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, On-Hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือแบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนที่โรงเรียน หรือ On-Site ในส่วนการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำ Web Portal ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของ สพฐ.-สช.-สำนักงาน กศน.-สอศ. แบ่งเป็นหัวข้อ – หมวดหมู่ตามความสนใจ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบออฟไลน์ สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค.จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัย สิ่งสำคัญคือทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ศธ.จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งต้องให้พื้นที่ประเมินร่วมกับ ศบค.จังหวัดว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมกับการเรียนรูปแบบใด โดยมีความมั่นใจและรับประกันได้ว่า เมื่อเปิดเทอมแล้วเด็กทุกคนจะได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.จะรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ จากคุณครูที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผ่านช่องทางที่เชื่อมต่อสู่เว็บไซต์ “ครูพร้อม” เพื่อให้ครูที่พร้อมแล้ว ได้มาช่วยเหลือ แบ่งปัน เพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งโครงการของครูพร้อม เกิดจากความห่วงใยว่าเมื่อเลื่อนการเปิดเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายนแล้ว ในช่วงเวลา 11 วันทำการ ก่อนเปิดภาคเรียน ก็ถือเป็นเวลาที่มีค่าที่จะเป็นทางเลือกให้กับครู ผู้ปกครอง นักเรียน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการการเรียนรู้ที่โดยจัดไว้เป็น 2 รูปแบบดังกล่าวทั้ง Online และ On-Site ซึ่งเป็นการบูรณาการโดยหน่วยงานทุกสังกัดของ ศธ. รวบรวมเนื้อหาทุกส่วนที่สำคัญมาไว้ในเว็บไซต์เดียวที่เรียกว่า “ครูพร้อม” ซึ่งมีภาคเอกชนมาร่วมด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนด้าน On-Site ในพื้นที่ อาจเป็นการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตซึ่งไม่ได้อยู่ในตำรา โดยนำสถานการณ์จริงมาใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Active Learning จำลองกระบวนการการเรียนรู้ให้เป็นรูปแบบของรูปแบบการส่งเสริมหลักสูตรสมรรถนะซึ่งจะมีการใช้ในปีการศึกษาหน้า ถือเป็นการเอาเวลาที่มีอยู่เหล่านี้ มาเตรียมความพร้อมให้กับครูและนักเรียนในเรื่องของการใช้สถานการณ์จริง ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองสามารถร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ ไม่มีการให้คะแนนผ่าน/ไม่ผ่าน แต่อย่างใด