ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมกลุ่มจับปลาในหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ เพื่อนำไปประกอบอาหาร พร้อมแปรรูป ตากแห้ง ทำปลาส้มและปลาร้า เป็นการถนอมอาหารเก็บไว้กินนานๆ ตามวิถีชีวิตคนอีสาน ลดค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะอาหารหายากในช่วงสถานการณ์โควิด-19แพร่ระบาด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่หนองอีเห็น แหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ บ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายอิทธิพล พลโคกก่อง พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน นำชาวบ้าน ร่วมกิจกรรมลงขันจับปลา ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อนำรายได้ไปเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน บำรุงพระพุทธศาสนา ได้ปลาไปประกอบอาหารในครัวเรือน และสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ซึ่งก่อนลงจับปลาทางคณะกรรมการได้มีการตรวจคัดคัดกรอง และจำกัดจำนวนคนลงด้วย เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 นายอิทธิพล พลโคกก่อง ตัวแทนคณะกรรมการหมู่บ้านตูม หมู่ 19 กล่าวว่า หนองอีเห็น เป็นแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเดิมเป็นบ่อดักน้ำป่า ที่จะไหลลงมากัดเซาะพื้นที่การเกษตรและคลองชลประทานลำปาว ได้รับความเสียหาย ต่อมาทางคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายปกครอง ขุดลอกเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำป่า ให้สัตว์เลี้ยงได้ดื่มกินในฤดูแล้ง จากนั้นมีการปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหาร นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ หลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง และเริ่มมีฝนตกลงมา ประกอบกับเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตให้กับชาวบ้านในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ตามตลาดสดทั่วไป และตลาดชุมชน อาหารเริ่มหาซื้อยากและลำบาก เพราะพ่อค้า แม่ค้า ส่วนใหญ่ ไม่กล้าเดินทางไปรับอาหารสด อาหารแห้งมาขาย เนื่องจากต้องลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 แต่หากจะไปหาอาหารตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และป่าชุมชน ก็หาไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านจับกลุ่มไปหากัน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค โดยเฉพาะครอบครัวใหญ่ ที่มีสมาชิกในครัวเรือนหลายคน นายอิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประสบปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ประชุมลงความเห็น เพื่อเปิดหนองอีเห็นให้ชาวบ้านลงจับปลา ในรูปแบบลงขันจับปลา โดยมีเงื่อนไขคือให้ใช้วัสดุ อุปกรณ์ ในการจับปลา เช่น แห อวน สะดุ้ง เท่านั้น โดยคิดราคาอุปกรณ์ละ 150 บาท ซึ่งสามารถจับปลาได้ตลอดวัน สำหรับรายได้นำเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน บำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะได้ปลาไปประกอบอาหารในครัวเรือน และยังเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนอีกด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปยาวนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของประชาชนโดยตรง ดังนั้น การลงขันจับปลาของชาวบ้านในครั้งนี้ นอกจากจะได้ปลาสดหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลากราย ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาขาว ฯลฯ เพื่อนำไปบริโภคแล้ว ยังจะได้แปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาส้ม และปลาร้า เพื่อถนอมไว้กินนานๆอีกด้วย