"คลัง" ยันกู้เงินเยียวยาโควิด-19 "รอบคอบ-เหมาะสม" ย้ำแหล่งเงิน-เครื่องมือกู้เงินเพียงพอพยุงเศรษฐกิจ ระบุกู้โควิดอนุมัติแล้ว 7 แสนล้านบาท "กนอ." จับมือ "สอท." ใช้พื้นที่นิคมฯทั่วประเทศศูนย์กลางฉีดวัคซีน ลดผลกระทบทาง ศก.-ภาคการผลิต
เมื่อวันที่ 10 พ.ค.64 นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยถึงกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เกี่ยวกับแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ โดยจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.64 ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยวันที่ 6 พ.ค.64 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจำนวน 703,841 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ
โดย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะวางแผนและดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 อย่างรอบคอบโดยใช้กลยุทธ์การระดมทุนที่เป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่าการบริหารหนี้สาธารณะได้มีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย(กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมตลอดจนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นมีบุคลากรในโรงงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ.ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคนที่ต้องได้รับวัคซีนโดยในจำนวนนี้มีบุคลากรประมาณ 5 แสนคน ที่ยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาท เอง อย่างไรก็ดีทางกนอ.จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในทุกช่องทาง ที่สำคัญคือ ได้มีการหารือกับ ส.อ.ท.และเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยได้เสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ.ที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยสามารถเตรียมการฉีดวัคซีนได้ทันที