"ศบค."แถลงพบผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ 2,101 ราย เสียชีวิต 17 ราย โคม่านับพัน ใส่ท่อหายใจ 394 ราย บุคลากรสธ.ติดแล้ว 512 ราย "นายกฯ"เร่งเดินหน้า 3 แนวทาง จัดหาวัคซีนเพิ่ม 150 ล้านโดส ขณะที่"หมอยง"เผยผลศึกษาวัคซีน"ซิโนแวค-แอสตร้าฯ" กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานได้ดีในคนไทย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 พ.ค.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 2,101 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,674 ราย คัดกรองเชิงรุก 412 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมาชาติ 5 ราย ยอดป่วยสะสม 83,375 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่ม 2,186 ราย สะสม 53,605 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 17 ราย สะสม 399 ราย ยังมีผู้รักษาในโรงพยาบาล อยู่ 29,371 ราย แบ่งเป็น รพ. 20,477 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 8,894 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาการรุนแรง 1,442 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 394 ราย อย่างไรก็ตาม การระบาดเดือนเมษายน 2564 มีผู้ป่วยสะสม 54,512 ราย เสียชีวิต 305 ราย
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว. กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผมได้ตัดสินใจเดินหน้า 3 แนวทางเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนี้ครับ
สำหรับแนวทางแรก เราต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนของเราให้มากกว่านี้ จากที่ปัจจุบัน เราตั้งเป้าสั่งซื้อวัคซีนที่ 100 ล้านโดส ประเทศไทยควรต้องหาวัคซีนเพิ่มอีก ให้เป็น 150 ล้านโดส หรือมากกว่านั้นให้ได้ แม้ว่าบางส่วนอาจจะส่งมอบให้เราได้ในช่วงปีหน้าก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราไม่ควรจัดหาวัคซีนด้วยเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศจะเกิดขึ้น
เมื่อเราฉีดให้ประชาชนได้ 50 ล้านคน เราควรต้องมีวัคซีนให้เพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งประเทศเรามีประชากรผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 60 ล้านคน และควรต้องมีวัคซีนเผื่อสำรองเอาไว้อีก เพราะทุกวันนี้ ทั่วโลกยังมีความไม่ชัดเจนว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากไวรัสตัวนี้ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตลอดจนคำถามอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ เช่น หลังจากฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนจะคงอยู่ได้นานเท่าไหร่ และเรามีความจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 อีกหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของการกลายพันธุ์ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่วัคซีนอาจจะส่งมอบล่าช้า อย่างล่าสุด หลายประเทศชั้นนำของโลก มีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงเวลานี้ จะได้รับส่งมอบวัคซีน เป็นจำนวนที่น้อยกว่าครึ่งนึงของจำนวนที่เขาสั่งไว้
แนวทางที่สอง ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของเรามีความคืบหน้าที่เร็วกว่านี้ ให้มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายเพิ่มขึ้นอีกเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้วัคซีนเพิ่มขึ้น เรามีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนจำนวนถึง 7 ราย และกำลังหาเจรจาเพิ่มอีก รวมถึงวัคซีนใหม่ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ๆ ด้วย แน่นอนว่า ในขณะที่ทั้งโลกยังคงแย่งกันสั่งซื้อวัคซีนให้กับประเทศของตัวเอง ทำให้การจัดหาและสั่งซื้อวัคซีนยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากอยู่ แต่เราจะต้องหาทางทำให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
การตัดสินใจของผมเรื่องสุดท้ายคือการปรับแนวทางการฉีด โดยเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรก หลังการหารืออย่างเข้มข้นกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะปรับมาให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แม้แค่เพียงเข็มแรกก็สามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก ดังนั้น เราต้องเร่งเครื่องเดินหน้าให้เร็ว ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนจำนวนมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ในช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยจะมีประชากรผู้ใหญ่ จำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรกและได้รับการปกป้องจากอันตรายของโควิด-19 แล้ว ในระดับที่มากพอสมควรครับ
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้แจงผลการศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชากรไทย โดยระบุว่า"การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากที่มีการติดเชื้อจะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีน Sinovac เมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีด AstraZeneca เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ 98-99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจพบภูมิต้านทานได้ร้อยละ 92.4
จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไปจะทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีน กับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอก หรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามไปดูว่ากลุ่มไหนจะมีการเกิดโรค covid-19 มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีน Sinovac และ AstraZenecaระดับภูมิต้านทานจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน
ขณะนี้ กำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก ก็อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวสั้น จึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดรายการป้องกันการติดเชื้อ