มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส. ) จับมือองค์กรภาคธุรกิจมืออาชีพ ศูนย์นวัตกรรมบ่มเพาะ และ บ.ธนัทเฮิร์บ พาณิขย์ จำกัด สร้างคลัสเตอร์กัญชง-กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เข้มแข็งของประเทศ พร้อมยกระดับ มทส. เป็น ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกกัญชา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรวบรวมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม ในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข คิดค้นตำรับยา การใช้สารสำคัญในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เพื่อการเข้าถึงของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส. ) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ กับ ศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม โดย นายณัฐชรัตน์ กฤตธน และ บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด โดย นายธนัท เชี่ยวชาญอักษร เพื่อประสานความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกัญชาคุณภาพเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ขยายผลการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างฐานพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ มทส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสามฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 ณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด และคณะ เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการประเทศ ด้านงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม ด้านการพัฒนากัญชาระดับคุณภาพ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนสอดรับนโยบายของรัฐบาล
จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและศักยภาพของคณะนักวิจัย ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกกัญชาสายพันธุ์ “ฝอยทองภูผายล” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงปัจจุบัน สามารถเก็บเกี่ยวกัญชาเป็นรุ่นที่ 3 เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลผลิตกัญชาคุณภาพจากสวนเกษตร มทส. ว่าให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูง และไม่มีสารโลหะหนักตกค้าง มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคผ่านการรับรองมาตรฐานโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย และแผนปัจจุบัน ที่ผ่านมาได้ส่งมอบยังกรมการแพทย์แผนไทยฯ และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น อีกทั้งจากการประกาศปลดล๊อคกัญชาในส่วนที่ไม่เป็นสารเสพติด ประกอบด้วยใบ ลำต้น และรากกัญชา ได้ผลตอบรับสูงมากจากภาคเอกชนติดต่อขอนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างหลากหลายในปัจจุบัน
สำหรับความร่วมมือทั้งสามฝ่ายในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีการปลูกกัญชาอย่างครบวงจร เพื่อร่วมสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชง และกัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรอื่นๆ โดยในระยะแรก จะเป็นการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการปลูกและการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพให้ได้ปริมาณสารสำคัญสูง การสกัดกลั่นสารสำคัญ การสร้างมาตรฐานการผลิต
รวมทั้งผลักดันเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข การคิดค้นตำรับยา และการใช้สารสำคัญในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ การพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชง-กัญชา และสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย โดยจะใช้ประสบการณ์ด้านการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จากศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม และด้านเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม จากบริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด และบริษัทในเครือ ผ่านการใช้กลไกความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ ประสานความร่วมมือสร้างคลัสเตอร์กัญชง-กัญชาคุณภาพ ที่ความเข้มแข็งของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจับคู่กับหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม หน่วยวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
จากนี้ไป สวนเกษตร มทส.จะถูกยกระดับเป็น “ศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี” ในระดับต้นน้ำ เกิดเป็น “คลัสเตอร์กัญชง-กัญชา” ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ ในระดับกลางน้ำจะเริ่มการขยายพื้นที่แปลงกัญชงและกัญชา ขนาดใหญ่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในรูปแบบ “Contract Farming” คือ สร้างภาคการผลิต-การแปรรูป-การสกัดกลั่นสารสำคัญจากพืชกัญชงและกัญชา ภาคการตลาดแรงงาน และไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยการแปรรูปผลผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่ม และความต้องการของตลาดโลกในระดับปลายน้ำ
ด้วยการใช้เทคโนโลยีเครื่องมืออุปกรณ์ขั้นสูงของมหาวิทยาลัยในการสกัดกลั่นสารสำคัญ เช่น สาร THC, CBD, CBN, CBG ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด จะเกิดการต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากงานวิจัยพัฒนาไปใช้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และการสาธารณสุข รวมไปถึงนวัตกรรมด้านงานบริการฟื้นฟูสุขภาพและชะลอวัย การขยายผลถึงการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจร รวมถึงภาคการผลิตและบริการ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นมิติที่ก้าวกระโดดของพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชง กัญชา และพืชสมุนไพรไทย จะเกิดเป็นระบบนิเวศความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยส่งเสริมนวัตกรรม เป็นการสร้างกลไกร่วมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง