กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฤดูฝน 2564 ว่ามีแนวโน้มที่จะมีพายุเข้าไทย 2-3 ลูก กรมชลประทานได้นำมาวางแนวบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ ภายใต้นโยบายของรัฐบาล และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ให้นโยบายไว้ว่าให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักชลประทานทั่วประเทศเมื่อ 7 พ.ค.64 ที่ผ่านมาว่า ขอให้กรมชลประทานประสานความร่วมมือในการทำงานกับทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ทั้งการกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ และการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดเหตุอุทกภัยหรือประสบภัย โดยเฉพาะในการกักเก็บน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในทุกกิจกรรม เนื่องจากในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาคการเกษตรจะเป็นภาคส่วนเดียวที่จะสามารถช่วยเหลือพื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากความหวังไว้กับภาคเกษตรที่จะช่วยนำประเทศผ่านวิกฤติได้เช่นที่ผ่านมาในทุกครั้ง ดังนั้นน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันภาคการผลิต จึงขอให้บริหารจัดการอย่างเต็มกำลังทุกฝ่ายโดยยึดประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมได้กระชับแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2564 ให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ อาทิ ให้มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การทำแบบจำลองสถานการณ์ในพื้นที่น้ำล้นตลิ่งเป็นต้น การกำหนดเครื่องมือ เครื่องจักรและกำลังคน ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นให้เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการจัดพื้นที่แก้มลิงไว้สำหรับหน่วงน้ำเช่นทุ่งบางระกำที่เลื่อนการเพาะปลูกเพื่อให้เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จกลาง ส.ค. เพื่อใช้เก็บน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลบ.ม. นอกจากนั้นจะเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน การประสานกับจังหวัดในการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 437 แห่ง และอาคารชลประทานทั้งหมด 1,806 แห่ง ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับใช้อาคารชลประทานในการจัดการจราจรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ปริมาณฝนในปี 64 ระบุว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าฝนเฉลี่ยและมีโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเข้าไทยประมาณ 2-3 ลูกในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนและภาคเหนือ และสิ่งที่ต้องระวังในช่วงดังกล่าวคือโอกาสเกิดมรสุมในร่องความกดอากาศ อาจเกิดฝนตกหนักและต้องเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย ซึ่ง ณ วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นวันเริ่มต้นการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 36,442 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 39,626 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,961 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,265 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,910 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมจะใช้เขื่อนในการบริหารน้ำ เบื้องต้นขอความร่วมมือเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก“ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำและการรับมือฤดูฝนปี 64 นั้น กรมได้มีการนำผลวิเคราะห์และพยากรณ์ของกรมอุตุฯว่า รูปแบบของฝนที่ตกในปี 2564 คล้ายกับปี 2551 นำมาทำแบบจำลองวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ๋ 35 แห่ง โดยเมื่อสิ้นฤดูฝนปี 64 ณ วันที่ 1 พ.ย.64 จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวม 67,066 ล้านลบ.ม.หรือ 95% น้ำใช้การได้ 43,524 ล้านลบ.ม.หรือ 92% ทั้งนี้กรมได้ทำแบบจำลองพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมไว้พร้อมทุกพื้นที่ตามแนวทิศทางที่กรมอุตุฯได้คาดการณ์ เบื้องต้นให้บริหารจัดการน้ำ ในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) สำหรับบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 (1 พ.ย. 63–30 เม.ย.64) ณ วันที่ 30 เม.ย.64 จบโครงการมีการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 16,717 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวม 4,892 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ ขณะที่ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5.95 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 2.45 ล้านไร่) ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ แต่พบว่าทำนาปรัง 2.79 ล้านไร่ การบริหารน้ำได้จัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำคือเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก พร้อมกันนี้ยังได้เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 56 จังหวัด 139 อำเภอ 220 ตำบล 344 หมู่บ้าน และมีการจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ ในการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 63,088 รายแล้ว จากเป้าหมาย 9 หมื่นกว่าราย