“....สิ่งที่เห็นตลอดระยะเวลาฟื้นฟูพระวรกายหลังทรงประชวร นั่นคือ พระองค์ทรงอดทนอย่างมากในการฟื้นฟูพระวรกายหลังทรงพระประชวร ซึ่งผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยจะมีความยากลำบากมากในการเดิน การลุกนั่ง แต่พระองค์ทรงอดทน..."
"....วันที่ 13 ตุลาคม2559เวลาเช้าคณบดีตามตัวผม เพื่อให้เตรียมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และน้ำยารักษาสภาพร่างกายให้พร้อม...ก็รู้สึกชาไปทั้งตัวทำอะไรไม่ถูก...."
**************************************************************
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช ได้จัดบรรยายพิเศษเนื่องในงาน “ศิระกราน พระภูบาลนวมินทร์” ที่อาคารศรีสวรินทิรา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมี 2 อดีตอาจารย์แพทย์ศิริราช ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ความผูกพัน ความประทับใจ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยน้อมสานึกและเผยแพร่พระมหา กรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2550-2554 เป็นหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ถวายงานครั้งที่ประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงเวลาดังกล่าว บรรยายในหัวข้อ “พระมหากรุณาธิคุณการุณย์ศิริราช” เล่าถึงความผูกพันและความประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ว่า
เมื่อครั้งที่ได้เข้าถวายตัวเพื่อเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นคณะบดีคนใหม่ ซึ่งพระองค์ท่านทรงตรัสกับตนเพียงสั้นๆ ว่า “เป็นนักเรียนใหม่ ตั้งใจทำงาน” ซึ่งตนได้น้อมใส่ใจใส่เกล้ามาโดยตลอดการทำงาน
ถือเป็นการเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลด้วย ซึ่งตนก็ไม่คาดคิดว่าจะได้มาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จึงอยากฝากไปถึงพวกเราชาวศิริราชทุกคนว่าต้องเป็นเหมือนนักเรียนใหม่อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตัวเอง ตั้งใจทำงานเพราะโลกนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องหมั่นหาความรู้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ได้ถวายการรักษาพระองค์ ตนมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าทรงงานหนักแม้จะยังทรงพระประชวรอยู่แต่เมื่อพระอาการดีขึ้นก็จะกลับไปทรงงานเพื่อประชาชนตลอด ซึ่งทรงมีพระเมตตากับพวกเราเป็นอย่างมาก เราในฐานะแพทย์พยาบาลก็ต้องมีความเมตตากับผู้ป่วย อย่าไปโกรธเพราะเขาคาดหวังกับการรักษาของเรา
ครั้งที่ประทับรักษาพระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรระดับน้ำที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำเพราะเป็นช่วงใกล้น้ำท่วม รับสั่งให้ตนกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับระดับน้ำเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ทั้งที่น้ำจะท่วมในช่วงเดือนตุลาคม ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลอย่างมาก
“ทุกวันผมต้องถวายรายงานเกี่ยวกับระดับน้ำให้พระองค์ท่านทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร ทำให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่างๆ มาร่วมประชุมหารือ เพื่อเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องในการถวายรายงาน
บางครั้งรับสั่งถามขณะอยู่ในลิฟต์ว่า ระดับน้ำเป็นอย่างไรบ้าง น้ำขึ้นมาเท่าไหร่ บริเวณปากน้ำระดับเท่าไหร่ ซึ่งพวกผมก็ต้องกราบบังคมทูลรายงานข้อมูลได้ทันที แม้อยู่ในช่วงเวลาฟื้นฟูพระวรกายก็ทรงงานเสมอ” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์ เล่าด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงห่วงใยประชาชนอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากห้องทรงงานของพระองค์อยู่ใกล้กับห้องผู้ป่วย ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถทอดพระเนตรฝั่งพระนครได้ทั้งหมด เป็นห้องโล่งกว้าง มีโต๊ะทรงงานและพระเก้าอี้ เมื่อพระสุขภาพดีขึ้นก็เสด็จฯ ห้องทรงงานบ่อยครั้งหลังจากเสวย และในบางครั้งก็เสด็จฯ บริเวณดาดฟ้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ ทอดพระเนตรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช ทำให้ทรงเห็นการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นและคับคั่งของฝั่งธนบุรี
ทรงมีรับสั่งถามเกี่ยวกับการจราจรทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล รวมถึงประชาชนที่เข้ามาใช้บริการที่ศิริราช ซึ่งมีกว่า1แสนคน เฉพาะผู้ป่วยก็กว่า1หมื่นคน ส่งผลให้การจราจรค่อนข้างวุ่นวายมาก จึงมีรับสั่งจะแก้ปัญหาจราจรฝั่งธนบุรี
นำมาซึ่งพระราชดำริแก้ปัญหาการจราจรรอบโรงพยาบาลศิริราช โดยทรงกางแผนที่และทรงชี้ว่าควรก่อสร้างถนนอย่างไร กลายเป็นถนนลอยฟ้าฝั่งธนบุรี การปรับปรุงสะพานอรุณอมรินทร์ และอนาคตจะมีรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาที่สถานีสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ศิริราชนั่นเอง
“สิ่งที่ผมเห็นตลอดระยะเวลาฟื้นฟูพระวรกายหลังทรงประชวร นั่นคือ พระองค์ทรงอดทนอย่างมากในการฟื้นฟูพระวรกายหลังทรงพระประชวร ซึ่งผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยจะมีความยากลำบากมากในการเดิน การลุกนั่ง แต่พระองค์ทรงอดทน และเมื่อการฟื้นฟูดีขึ้นทรงจักรยานเพื่อฟื้นฟูด้วย และการที่ประชาชนมาถวายกำลังใจทั้งการทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้และเปล่งเสียงทรงพระเจริญ ทรงได้ยินตลอด พระพักตร์แจ่มใสขึ้น”
นอกจากนี้ เหล่าคณะแพทย์ได้จัดหาการแสดงมาให้ทอดพระเนตรเพื่อให้ทรงพระเกษมสำราญขณะพักฟื้น อย่างเช่น ช่วงตรุษจีนก็จะนำคณะนักแสดงจากจ.นครสวรรค์ มาแสดงเบื้องพระพักตร์ หรือจัดแสดงคอนเสิร์ตให้ทอดพระเนตร มีรับสั่ง “ขอบใจนะเพลงเพราะดี”
ครั้งหนึ่งที่เสด็จฯ ลงเพื่อถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เดิมทีนั้นคณะแพทย์เตรียมให้เสด็จฯ บริเวณวงแคบ แต่พระองค์รับสั่งให้ไปวงใหญ่ เพราะทรงเห็นว่ามีประชาชนรอเฝ้ารับเสด็จฯอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก
“พระองค์ทรงห่วงใยคณะแพทย์และพยาบาล และทรงทราบว่ามีปัญหาคนไข้ฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น ทรงรับสั่งว่า “ให้พวกเราอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดีอย่าไปดูถูกใคร” ซึ่งเมื่อเราให้เกียรติต่อทุกคน ไมตริจิตก็จะเกิดขึ้น ผมได้น้อมนำมาถ่ายทอดต่อบุคลากรศิริราช และทุกคนสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม”
ด้าน ศ.พิเศษ ดร.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์” ตอนหนึ่งว่า ตนไม่เคยรับใช้งานใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9จึงขอถ่ายทอดในฐานะเป็นพสกนิกรคนหนึ่งของพระองค์
ตนเป็นคน 3แผ่นดิน ในช่วงวัยเด็กมีโอกาสติดตามคุณพ่อเฝ้ารับเสด็จฯในหลวงรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ที่ตึกกายภาคศาสตร์หลังเก่า รพ.ศิริราช ครั้งที่เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน
ในปี 2538จดจำได้ว่าครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระประชวรพระหทัยตีบ เข้าประทับรักษาพระอาการ ณ รพ.ศิริราช เมื่อประชาชนเห็นภาพเปลคนไข้และมีสายน้ำเกลือสองสายที่พระวรกาย ประชาชนต่างร้องไห้ ซึ่งการรักษาในครั้งนั้นได้ผลดี และช่วงเวลาที่ประทับรักษาพระวรกายในครั้งนั้น พระองค์ก็ยังทรงงานนำมาสู่โครงการถนนคู่ขนานลอยฟ้า
“ในช่วงเดือนตุลาคมก็มีข่าวพระอาการไม่ดี ทำให้มีประชาชนเดินทางมาที่รพ.ศิริราชมากขึ้น บ้างก็มาสวดมนต์ และในวันที่ 13 ตุลาคม2559เวลาเช้าคณบดีตามตัวผม เพื่อให้เตรียมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และน้ำยารักษาสภาพร่างกายให้พร้อม
ก็รู้สึกชาไปทั้งตัวทำอะไรไม่ถูก รอแบบผุดลุกผุดนั่ง รอเวลาที่จะถูกเรียกไปทำงาน จนเวลาประมาณ16.30น. ก็ถูกเรียกตัวขึ้นไปบนอาคาร รอจนสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ก็เริ่มปฏิบัติภารกิจในเวลา19.30น. เสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องทำประมาณเวลา20.30น.”
ศ.พิเศษ นพ.สรรใจ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า และฝากถึงพวกเราทุกคนว่าสิ่งที่เราทุกคนจะทำได้นับจากนี้ควรต้องทำความดี อะไรก็ได้ที่เป็นความดีเพื่อถวายพระองค์ท่าน และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
“นารีนาฏ ภัยวิมุติ”