สำหรับ นครบางจำ หมู่ที่ 15 ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ตลอดจนการดำเนินงานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้ประทานพระอนุญาตแบบลายแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคนและประทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้เพื่อการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งบ้านนครบางจำ เป็นหมู่บ้านกลางป่าใหญ่อยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอวิภาวดี 38 กิโลเมตร มีเส้นทางการคมนาคมที่ลำบากมาก ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าหนึ่งชั่วโมง ประชาชนในหมู่บ้านประกอบอาชีพการเกษตรปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลต่างๆ ในขณะที่มีสมาชิกสตรีบางส่วนประกอบอาชีพเสริมด้านการทอผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านท่านหญิง หมู่ที่ 1 ตำบลตะกุกเหนือ ซึ่งมีระยะทาง 27 กิโลเมตร และมีความลำบากมาก ด้วยเหตุนี้นายไชยะ ลักษณะปิยะ ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน แกนนำชุมชน ดร.ณรัฐนันทน์ รักษาทิพย์ รัตนพันธ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่น) สมาชิกสตรี และนายสุภาพ ลิขไชย นักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิภาวดี (พัฒนากรประจำตำบล) ได้หารือร่วมกันและเห็นควรจัดตั้งโรงทอบ้านนครบางจำ ขึ้น โดยช่วงแรกได้ระดมสรรพกำลังในหมู่บ้านดำเนินการปรับปรุงร้านค้าสวัสดิการในหมู่บ้านซึ่งรกร้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่อเป็นโรงทอผ้า และเป็นสถานที่ฝึกสอนการทอผ้าให้กับสมาชิกกลุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโรงทอ มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 26 คน มีนางบุญพา ลักษณะปิยะ เป็นประธานกลุ่มและได้เริ่มดำเนินการทอผ้าแต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะฝีมือด้านการทอของสมาชิกส่วนใหญ่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิภาวดี จึงได้แนะนำ สนับสนุนให้คณะกรรมการพัฒนาสตรีบ้านบางจำ จัดทำโครงการเพื่อฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพสตรีในการสืบสาน อนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย ทั้งนี้ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเภทเงินอุดหนุนเป็นเงิน 200,000 บาท และได้รับการอนุมัติดำเนินการระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2563 รวมเวลา 20 วัน โดยวิทยากร นายวันชัย โชติจรูญ ผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมสิ่งทอ สมาชิกผู้เข้าอบรมมีพื้นฐานและสามารถทอผ้าผืนได้หลากหลายลายและตั้งชื่อไว้เบื้องต้น ได้แก่ ลายดาหลา ลายวังลาน ลายแก่งกรุง ลายคลองยัน ลายบัวผุด ลายคลองพาย และลายนครบางจำ โดยในทุกๆวันจะมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าได้ทำการทอผ้าที่โรงทอนครบางจำ และได้มีบุตรหลาน ราษฎรในหมู่บ้านให้ความสนใจมาเรียนรู้การทอผ้าด้วย มีคำกล่าวที่น่าสนใจของ"หวันดารา"ซึ่งเป็นสุดยอดภูมิปัญญาการทอผ้ายลายโบราณ แห่งบ้านพุมเรียง อำเภอไชยา " อยู่กับสิ่งไหน เป็นสิ่งนั้น"ซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงของท่าน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่ากิจกรรมที่ดีดี ที่บ้านนครบางจำแห่งนี้ จะเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ตลอดจนการดำเนินงานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 กลุ่มทอผ้าบ้านบางจำได้รับมอบลายผ้า “มัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ”และได้ฝึกทอจนสามารถทอผ้าดังกล่าวได้ ทั้งนี้มีสมาชิกกลุ่มทอผ้าชื่อนางนางสาวจิราวัลย์ ปิงเมา (ครูวัล) ซึ่งมีสามารถพิเศษในการทอผ้าลาย“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”โดยทำการทอเป็นผ้าพันคอและผ้าผืน รูปแบบผ้ายกโบราณ 9 ตะกอ ซึ่งเป็นการทอที่มีความซับซ้อน ประณีต สวยงามเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้สอนแนะสมาชิกในกลุ่มให้สามารถทอผ้า“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ได้อีกด้วย กลุ่มทอผ้านครบางจำ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวิภาวดี สำนักหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯเขต5 จังหวัดชุมพร และมณฑลทหารบกที่ 45 เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง ในปัจจุบันกลุ่มทอผ้านครบางจำ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการสั่งซื้อผ้าทอพื้นเมืองและผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกระแสนิยม จากการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”และการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งกลุ่มทอผ้านครบางจำยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถทอผ้าได้ทันกับความต้องการ จึงได้มีแนวคิดที่จะรับสมัครสมาชิกเพิ่มและจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทอผ้าโดยเน้นทักษะการทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ”ขึ้นอีกครั้ง สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยนั้น กรมการพัฒนาชุมชนโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และได้เสนอคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยให้ข้าราชการ ภาคเอกชน และประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการรณรงค์สนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เชิญชวนให้ข้าราชการในสังกัดสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ให้บุคลากรภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป ได้สวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 วัน เช่นกัน สร้างความภาคภูมิใจ“สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และต่อยอดภูมิปัญญา อัตลักษณ์ของชาติไทย ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดอย่างยั่งยืนต่อไป