“อีไอซี”ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 2.0% เดิมคาด 2.6% จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3นโยบายการเปิดประเทศทั่วโลกมีความระมัดระวังมากขึ้น มีความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง ระบุคุมโควิดไม่อยู่ 3 เดือน สร้างความเสียหาย 2.4 แสนล้าน
อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จากเดิมอยู่ที่ 2.6% ลงมาอยู่ที่ 2.0% ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 รวมถึงแนวนโยบายการเปิดประเทศทั่วโลกที่มีความระมัดระวังมากขึ้น แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดและเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ทั้งนี้การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของทั้งโลกจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ภาคบริการยังซบเซาต่อเนื่อง แต่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศส่วนใหญ่กลับได้รับผลกระทบน้อยและฟื้นตัวได้ดี จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกของโลก (รวมถึงไทย) ทั้งนี้ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้ราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทปรับสูงขึ้น EIC จึงปรับประมาณการมูลค่าส่งออกปีนี้มีอัตราขยายตัวที่ 8.6% ดีกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 6.4%
โดยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศมีความระมัดระวังในการเปิดประเทศมากขึ้น เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น และยังสามารถต้านทานภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เกิดจากวัคซีนได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนเป็นอัตราที่สูงแล้ว ก็ยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดอยู่ จึงปรับนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น EIC จึงคาดว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกจะล่าช้าออกไปอีก และปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เหลือเพียง 1.5 ล้านคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.7 ล้านคน
สำหรับภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกที่ 3 จะส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยจากการประเมินในกรณีฐาน คาดว่าการระบาดระลอกนี้จะใช้เวลาราว 3 เดือนในการควบคุม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ต่อจีดีพี นอกจากนี้ การระบาดระลอกใหม่ยังส่งผลทางอ้อมทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วอาจปรับแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว ผ่านจำนวนประกาศรับสมัครงานออนไลน์บนเว็บไซต์ JobsDB.com ที่ปรับลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งแผลเป็นเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีกได้
ขณะที่ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2021 ครม.มีมติรับหลักการมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมรวมวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรก ภาครัฐได้ออกนโยบายต่าง ๆ ในการประคับประคองเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 2.9 แสนล้านบาท ทำให้เหลือเม็ดเงินอีกราว 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม.มีมติออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมรวมวงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท นับเป็นการใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ทั้งหมดภายต้ พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยบางส่วนของมาตรการเป็นเพียงการรับหลักการของ ครม. เท่านั้น จะต้องติดตามรายละเอียดอีกครั้งหลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. นอกจากนี้ภาครัฐยังมีเม็ดเงินจากงบกลางที่เหลืออีกราว 5-6 หมื่นล้านบาทที่สามารถใช้ได้เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้หากเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นไปตามแผนข้างต้น เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Technical recession ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 โดยจากผลกระทบของการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปี 2021 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุด โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลในช่วงไตรมาสแรก ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน หรือ PCI หดตัวที่ -1.1%QoQ_sa) และมีโอกาสที่อัตราการเติบโตรายไตรมาสแบบปรับผลฤดูกาล (%QoQ_sa) ติดลบในช่วง 2 ไตรมาสแรก ซึ่งทำให้เกิด Technical Recession ขึ้นอีกรอบหลังจากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบแรกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2019 ไตรมาส 2 ปี 2020 จากผลกระทบสงครามการค้าและการระบาดของ COVID-19 รอบแรก
สำหรับภาครัฐอาจสามารถช่วยยับยั้งการเกิด Technical Recession ได้ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจในจำนวนที่มากพอในช่วงไตรมาส 2 อย่างไรก็ดีจากแผนตามมติ ครม.ข้างต้นพบว่าเม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีเพียง 85,500 ล้านบาท (จากมาตรการเพิ่มเงินโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน) เทียบกับผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่ EIC ประเมินในกรณีฐานไว้ที่ราว 2.4 แสนล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ Technical recession ได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณาเร่งจัดทำโครงการพยุงเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินลงสู่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการช่วยบรรเทาแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงขึ้นหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า ได้แก่ การปิดกิจการที่อาจเพิ่มขึ้น และภาวะตลาดแรงงานที่อาจเปราะบางเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ ประกอบไปด้วย 1.ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าคาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ 2.ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอโดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดย EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างรุนแรง และจะฟื้นตัวช้า ส่งผลให้เกิด Permanent Output loss ขนาดใหญ่ ภาครัฐจึงควรพิจารณาออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบระยะสั้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับ New Normal
ทั้งนี้จากการประเมินของ EIC พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้เกิด permanent output loss (ส่วนต่างระหว่างค่าคาดการณ์ GDP กับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจก่อนการะบาดของ COVID-19) ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวในระดับสูง โดยภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เช่น แผลเป็นทางเศรษฐกิจของไทยที่ค่อนข้างรุนแรง, ความเปราะบางที่สะสมมาก่อนหน้าจากหนี้ครัวเรือนที่สูง, SMEs มีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นต้น
“ภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นตัวในระยะกลางและยาว โดยเฉพาะการปรับทักษะของแรงงาน (Up/Re-skill) และการช่วย SMEs ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาททางธุรกิจมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลด permanent output loss และช่วยซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนและธุรกิจได้เร็วขึ้น รวมทั้งเพิ่มอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (potential growth) ของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย”