จากผลวิจัยระดับโลกพบว่า คนหนุ่มสาวทั่วโลกกว่า 75 ล้านคนไม่มีงานทำ ในขณะที่ด้านผู้ประกอบการเอง ไม่สามารถหาบุคลากรมาทำงานในองค์กรได้เพียงพอ สาเหตุจากขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยจาก National Training Laboratories ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ความรู้ที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้หลังจากการเรียนโดยการฟังและการอ่าน มีสัดส่วนเพียง 5-10% จากการเรียนรู้ทั้งหมด ในขณะที่ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้จากการเรียนรู้ขณะการทำงานจริงได้ถึง 75% ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบของรูปแบบการเรียนการสอนอีกต่อไปแล้ว อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า
การศึกษารูปแบบ Work-based Education (WBE) เข้ามาเพิ่มศักยภาพของการศึกษามากขึ้น โดยเน้นจุดเด่นให้นักศึกษาสามารถสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริงในขณะเรียน ผ่านโมเดล “เรียนทฤษฎีควบคู่การฝึกปฏิบัติงาน”
ที่นำมาซึ่งทักษะสำคัญทั้ง 3 ได้แก่ 1) ทักษะด้านอาชีพ (Professional skills) คือองค์ความรู้ วิชาการที่ใช้ในการประกอบอาชีพ 2) ทักษะด้านสังคม (Social Skills) คือความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม มีมนุษยสัมพันธ์ การอยู่ร่วมในสังคม และ 3) ทักษะด้านการดำเนินชีวิต (Life Skills) คือทักษะที่พัฒนาทัศนคติในการดำเนินชีวิต ทักษะการจัดการปัญหา อารมณ์ และการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางสภาพสังคมและความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน “รูปแบบการเรียนดังกล่าวนำมาใช้จริงแล้ว โดยนักศึกษาพีไอเอ็มจะได้ลงสนามการทำงานในสถานประกอบการจริงที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน เพื่อให้สามารถบูรณาการทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง ซึ่งมีอัตราส่วนการฝึกงานจริงสูงถึง 40% จากเวลาทั้งหมดของหลักสูตร สลับกับการเรียนในห้องเรียน โดยคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดจนมีวิทยากรจากองค์กรเครือข่ายชั้นนำกับพีไอเอ็ม มาร่วมสอนในลักษณะเวิร์กช็อป ถ่ายทอดกรณีศึกษา วิเคราะห์และฝึกปฏิบัติโดยเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ปฏิบัติงานจริง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่นักศึกษา ที่จะต้องตอบสนองตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันทั้งทางด้านความต้องการกำลังคน และศักยภาพของแรงงาน” อาจารย์พรวิทย์ กล่าว เพลิน - พิชญาภา กันทะมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ วิชาเอกการสื่อสารองค์กรและแบรนด์ กล่าวว่า ได้เปิดประสบการณ์การทำงานจริง โดยฝึกงานทั้ง 7-Eleven งานข่าว งานโทรทัศน์ นิตยสาร เอเจนซี่งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงงานประชาสัมพันธ์องค์กร ตลอด 4 ปีของการเรียนคู่การทำงานที่ผ่านมา ทำให้ตนเองเข้าใจระบบการทำงานในสนามอาชีพจริง การปรับตัว การเข้าสังคม และการแก้ไขปัญหา ที่ไม่สามารถหาได้จากเพียงการเรียนภายในห้องเรียน และที่สำคัญที่สุดการเรียนที่ได้ฝึกงานมาตลอดทุกปีของการเรียนนั้น ทำให้ได้รู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น เพราะได้ทำงานในหลากหลายรูปแบบ จนรู้ว่าตนเองชอบการทำงานรูปแบบใด ซึ่งสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจการทำงานได้ในอนาคต ขณะที่ ฟ็องซ์ - ชัยวุฒิ นรินทรางกูร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ กล่าวว่า เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ โดยได้แรงบันดาลใจจากการชอบดูแข่งรถ ประกอบกับหลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทราบว่าพีไอเอ็มเปิดหลักสูตรสาขาวิชาดังกล่าว จึงตัดสินใจเลือกเข้ามาศึกษาที่พีไอเอ็ม เพราะความแตกต่างที่พีไอเอ็มมีเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตน ที่มีความฝันอยากไปฝึกงาน ในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ชั้นนำของโลกอย่าง TRD ประเทศญี่ปุ่น โดยหลังจากปรึกษากับอาจารย์แล้วทราบว่า มีโอกาสความเป็นไปได้สูง ปัจจุบันฟ็องซ์จึงเร่งพัฒนาทักษะที่สำคัญทั้งด้านวิชาการ ภาษา รวมถึงทักษะด้านสังคม เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการไปฝึกงานต่างประเทศ และสามารถไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการในฝันได้ในอนาคต