เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงานว่า สำหรับแนวทางในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชนนั้น ควรกำหนดให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งสถานพยาบาลภาคเอกชนควรคัดเลือกวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก ที่มีคุณลักษณะหรือยี่ห้อที่แตกต่างจากวัคซีนที่ภาครัฐนำเข้ามา และสามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันภายในปี 2564 รวมทั้งในอนาคตกรณีที่มีการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม ก็สามารถนำเสนอวัคซีนทางเลือกรายการอื่นเพิ่มเติมต่อไปได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯยังได้สรุปการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมสำหรับภาครัฐ ประกอบด้วย Pfizer, Sputnik V และ Johnson & Johnson และในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะทำงานฯมีความเห็นว่า ควรเป็นวัคซีนโควิด-19 ในรายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้ให้บริการโดยภาครัฐและสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อให้เป็นวัคซีนทางเลือกอย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภาครัฐ เช่น Moderna, Sinopharm หรือวัคซีนอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต โดยขอให้มีการควบคุมราคาการให้บริการในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกให้กับประชาชนในสถานพยาบาลเอกชนให้สมเหตุสมผล และมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ช่วยผลักดันให้มีบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนเข้ามาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับการจัดหาวัคซีนในสถานพยาบาลเอกชนนั้น องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้บริหารจัดการและประสานกับบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายวัคซีน โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย (Product Liability) และสถานพยาบาลเอกชน/ภาคเอกชนที่ประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องชำระเงินจองวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกล่วงหน้าให้แก่องค์การเภสัชกรรมเต็มจำนวนมูลค่าการสั่งซื้อ (100%) รวมทั้ง จัดทำประกันสำหรับกรณีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยภาคเอกชนที่มีความประสงค์จะขอนำเข้าวัคซีนทางเลือก สามารถดำเนินการแต่งตั้งตัวแทนจากบริษัทวัคซีนต้นทางและยื่นหนังสือต่อองค์การเภสัชกรรม โดยที่ประชุมคณะทำงานฯเห็นควรมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) เพื่อดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน