แค่ซ้อมไว้เผื่อฉุกเฉิน นาซาเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สมมติเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยเสี่ยงโหม่งโลก ด้วยเวลารับมือเพียง 6 เดือน กับโจทย์สุดท้าทาย-กดดันภายใต้ชีวิตชาวโลก เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ความจริง ไร้ตัวตน! ดาวเคราะห์น้อยสมมติ เป็นเพียงแผนการพิทักษ์โลก “ดาวเคราะห์น้อย 2021 PDC กำลังพุ่งตรงมายังโลก เรามีเวลาแค่หกเดือนที่จะรับมือกับมัน” นี่คือ #สถานการณ์จำลอง ที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกการรับมือต่อกรณีฉุกเฉิน และการวางแผนเพื่อจัดการภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การจำลองสถานการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการออนไลน์ด้านการป้องกันดาวเคราะห์ (Planetary Defense Conference) ในวันที่ 26-30 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยจากทั่วโลกเข้าร่วม “2021 PDC” ดาวเคราะห์น้อยสมมติที่สร้างขึ้นให้เหมือนกับดาวเคราะห์น้อยจริงๆ โดยสร้างสถานการณ์ว่า มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564 และมีค่าความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกสูงมากในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีเวลาแค่หกเดือนในการคิดแผนรับมือ นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากเนื่องจากมีข้อมูลที่น้อยและมีระยะเวลาในการรับมือไม่มากนัก เพื่อหาทางออกในโจทย์ปัญหานี้ จึงแบ่งขั้นตอนของแผนการรับมือออกเป็น 4 วัน (ตามจำนวนวันที่จัดประชุมวิชาการ) แต่ละวันอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่การค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2021 PDC จนถึงวันที่มันจะพุ่งชนโลก ซึ่งแต่ละวันมีรายละเอียดดังนี้ #วันที่1 จำลองสถานการณ์ของวันที่ 19 เมษายน 2564 วันแรกที่ค้นพบ เริ่มต้นที่หอดูดาว Pan-STARRS ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์น้อย ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “2021 PDC” และประมาณระยะห่างจากโลกไว้ที่ 35 ล้านกิโลเมตร เนื่องจากมีข้อมูลน้อยมาก จึงยังไม่สามารถระบุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่แน่นอนได้ คาดว่ามีขนาดตั้งแต่ 35 ถึง 700 เมตร ซึ่งเป็นค่าที่ความแม่นยำค่อนข้างต่ำมาก และมีโอกาส 5% ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นับว่าเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์น้อยที่เคยเข้าใกล้โลกทั้งหมด พื้นที่เสี่ยงต่อการพุ่งชนกินพื้นที่ถึง 2 ใน 3 ของพื้นผิวโลก จึงเริ่มมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเบี่ยงเบนวิธีโคจรของมันออกไป เช่น ส่งนิวเคลียร์เพื่อให้แรงระเบิดเบี่ยงเส้นทางของดาวเคราะห์น้อย #วันที่ 2 จำลองสถานการณ์ของวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นักดาราศาสตร์สรุปว่า 2021 PDC จะพุ่งชนโลกในวันที่ 20 ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน สามารถระบุตำแหน่งพุ่งชนได้แคบลง คือ บริเวณทวีปยุโรป และบริเวณแอฟริกาเหนือ แต่ข้อมูลทางกายภาพ เช่น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อความรุนแรงในการชนยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอให้ดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกมากกว่านี้ แล้วสังเกตการณ์ด้วยเรดาร์จึงจะได้ข้อมูลมากขึ้น และยังมีข้อสรุปที่สำคัญ คือ ระเบิดนิวเคลียร์ที่มีความรุนแรงพอจะเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อยได้นั้น ไม่สามารถสร้างเสร็จทันภายในระยะเวลา 6 เดือน #วันที่ 3 จำลองสถานการณ์ของวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 หลังจากนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกช่วยกันติดตาม 2021 PDC ทำให้ข้อมูลมากเพียงพอจะประมาณพื้นที่เสี่ยงที่แคบลงได้คือบริเวณประเทศเยอรมนี เช็กเกีย ออสเตรีย สโลวีเนีย และโครเอเชีย และคาดว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 ถึง 500 เมตร หากใช้ขนาดเฉลี่ยของดาวเคราะห์น้อยทั่วไปคือ 136 เมตร พุ่งชนบริเวณดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างมากถึง 250 กิโลเมตร และอาจมีผู้ได้รับอันตรายจำนวนมากถึง 6.6 ล้านคน #วันที่ 4 จำลองสถานการณ์ของวันที่ 14 ตุลาคม 2564 หกวันก่อนการพุ่งชน ขณะตอนนี้ 2021 PDC อยู่ห่างจากโลกแค่ 3.9 ล้านกิโลเมตร (ประมาณ 10 เท่าของระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์) ซึ่งเป็นระยะทางที่สามารถใช้เรดาร์สังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยได้ พบว่ามีขนาดประมาณ 105 เมตร เล็กว่าที่เคยประมาณไว้ และสามารถระบุพื้นที่พุ่งชนได้แคบลง อยู่บริเวณรอยต่อของประเทศเยอรมนี เช็กเกีย และออสเตรีย ช่วยให้อพยพผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวออกไปได้ทัน สถานการณ์จำลองดาวเคราะห์น้อยสมมติ 2021 PDC ทำให้องค์กรอวกาศต่าง ๆ พัฒนาแนวทางเก็บข้อมูลวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) การบริหารจัดการและการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉิน แสดงให้เห็นว่าควรมีความร่วมมือกันอย่างไรเพื่อรับมือหากมีดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจริง งานประชุมวิชาการออนไลน์ด้านการป้องกันดาวเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริง และนอกจากนี้วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นาซาจะส่งยาน DART ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีในการเบี่ยงเบนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.narit.or.th/.../1180-nasa-dart-65803-didymos เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] NASA to Participate in Tabletop Exercise Simulating Asteroid Impact, www.nasa.gov [2] NASA to Participate in Tabletop Exercise Simulating Asteroid Impact, www.jpl.nasa.gov [3] Planetary Defense Conference Exercise – 2021, www.cneos.jpl.nasa.gov [4] Deep (fake) impact, www.blogs.esa.int