นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 15 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พรบ.ต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง สิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 3,085 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 227 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
โดยการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมออกแบบ องค์ความรู้เกี่ยวกับการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินนอกชายฝั่ง และการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารเคมีเพื่อการบำบัดน้ำ การบำบัดน้ำหล่อเย็นที่ใช้น้ำทะเล เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 5 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และฝรั่งเศส มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ให้แก่ ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากกระทรวงพลังงาน บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาฯ ตลอดจนการบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection System) เพื่อรองรับระบบการใช้งานร่วมกันของระบบตั๋วร่วมในรูปแบบบัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable) สำหรับบัตรแรบบิท (Rabbit Card) และบัตรโดยสารเอ็มอาร์ทีพลัส (MRT Plus Card) ที่ใช้เดินทางในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีทอง บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการสำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 28 ล้านบาท อาทิ การทำกิจการโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ รวมทั้งบริการบริหารจัดการและติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการด้านการขนส่ง (logistic service provider) สำหรับการจัดส่งสินค้า การทำกิจการโฆษณา รวมทั้งบริการจัดหา รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าและ บริการ (supplier) สำหรับใช้ในการทำสื่อโฆษณาและการตลาด บริการให้ใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นสำหรับการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า รวมทั้งระบบบริหารจัดการด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย ภายใต้ชื่อทางการค้าที่ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทในเครือ เป็นต้น
3.ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า จำนวน 4 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ เดนมาร์ก และอินเดีย มีเงินลงทุนจำนวน 29 ล้านบาท อาทิ นายหน้าจัดหาตลาด และค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ อะไหล่และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการซ่อมแซมบำรุงรักษา การค้าส่งชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ ภายใต้ชื่อทางการค้าที่จำหน่ายโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ การค้าปลีกสารเคมีพิเศษที่ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและในโรงไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ เป็นต้น
4.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากฮ่องกง และสวีเดน มีเงินลงทุนจำนวน 2,990 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับค้ำประกันหนี้ ให้แก่ บริษัทในเครือในต่างประเทศตามที่ระบุชื่อ บริการทางบัญชี รวมทั้งบริการให้เช่าพื้นที่ จัดการ และควบคุมการผลิต ให้แก่ บริษัทในเครือ
ทั้งนี้เดือนเมษายน 2564 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน รองลงมาเป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้า ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า และธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือ ตามลำดับ ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่ จำนวน 3,019 ล้านบาท คิดเป็น 98% เป็นการลงทุนในธุรกิจสนับสนุน โดยเป็นการใช้เงินลงทุนกว่า 2,900 ล้านบาท เพื่อให้บริการรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ
โดย 4 เดือนแรกปี 2564 นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาต 75 ราย เงินลงทุน 7,960 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการสำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการวิจัย พัฒนา และทดสอบชิ้นส่วนของเครื่องทำความร้อน ระบายอากาศ และปรับอากาศสำหรับยานยนต์ ธุรกิจค้าส่ง และให้คำปรึกษาแนะนำการใช้งาน การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงธุรกิจการค้าปลีกสารเคมีพิเศษที่ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและในโรงไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย ธุรกิจบริการให้ใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นสำหรับการสนับสนุนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบบครบวงจร เป็นต้น