ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ ไม่มีประเทศใดที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม บทความนี้ต้องการจะนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างแรง ซึ่งจัดเรียงลำดับนับตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว สิ่งแรกที่ท่านดำเนินการคือ การเข้าพยุงตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ด้วยมาตรการต่างๆรวมทั้งซอฟต์โลน เพื่อชะลอความวิตกกังวลของนักลงทุนทั้งหลาย ซึ่งได้ใช้งบประมาณไปเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และก็นับว่าไบเดนโชคดีที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา จึงสามารถผ่านด่านของพรรคริพับลิกันไปได้ไม่ยาก เมื่อตลาดเริ่มคลายวิตกกังวลสิ่งที่ไบเดนทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือ การลดการตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและต้องการให้ครอบคลุมประชาชนกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศภายในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อกระตุ้นดีมานด์ หรือความต้องการซื้อและลงทุนของสาธารณะ ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ ในเรื่องนี้รัฐมนตรีคลังนางยาเลน ซึ่งเคยเป็นประธานเฟด หรือผู้กุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯได้แถลงว่าไม่ใช่เรื่องที่จะกังวลเพราะเมื่อดูจากตัวเลขโดยเปรียบเทียบ เช่น เงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 กับปีที่แล้วนั้นเพิ่มสูงผิดปกติ แต่ตัวเลขเปรียบเทียบนี้ต้องเข้าใจว่าเมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจมันฝืดเคืองมาก เมื่อเทียบกับปีนี้ที่เศรษฐกิจมีความตื่นตัวสูง จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ แม้รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม แต่สิ่งที่รัฐบาลคำนึงถึงและเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุดคืออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปล่อยให้คนว่างงานในระดับสูงและเป็นเวลานานถือว่าเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามนางยาเลนก็ยอมรับว่าสิ่งที่หนักใจคือหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นจากการใช้งบประมาณขาดดุลนี้เพิ่มจาก 79% เป็น 100% ของ GDP ในปี 2020 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกกังวลนัก เมื่อสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง ในเรื่องของผลกระทบเรื่องการติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่กระทบเศรษฐกิจนั้น แม้จะมีตัวเลขว่าสหรัฐฯมีคนติดเชื้อกว่า 30 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลกก็ตาม แต่ถ้าเราเปรียบเทียบตามอัตราส่วนต่อประชากร 100,000 คน กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละช่วงเวลา จะพบว่าฝรั่งเศสติดอันดับ 1 คือ 46.9 รองลงมาคือบราซิล 36.3 เยอรมนี 29.8 อินเดีย 27.6 และสหรัฐฯ 16.3 ซึ่งแสดงว่าสหรัฐฯแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ดีพอควร จึงมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อประชากร 1 แสน ต่ำกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนีอย่างมาก ส่วนแถบเอเชียอาคเนย์ มาเลเซีย 9.6 ฟิลิปปินส์ 6.3 กัมพูชา 4.3 ไทย 2.7 สิงคโปร์ 0.4 อินโดนีเซีย 0.2 ซึ่งก็ต้องนับว่าประเทศไทยจัดการควบคุมการระบาดของโควิดได้ดีพอสมควร ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แม้ว่าจะบริหารจัดการในการจัดหาและฉีดวัคซีนยังเป็นไปอย่างล่าช้าก็ตาม ด้านสาเหตุที่ควบคุมได้ดีอาจเป็นเพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความตื่นกลัวและวิตกกังวลอย่างมาก จึงควบคุมตัวเองอย่างเข้มงวด แต่ต้องเข้าใจว่านิสัยคนไทยชอบสนุกสนานเฮฮา คงจะทนได้อีกไม่นาน และถ้าการ์ดตก ตัวเลขการแพร่ระบาดอาจพุ่งสูงอีกก็ได้ กลับมาพิจารณาถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้น เขาให้ความสำคัญถึงต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ นั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการแก้ปัญหาในระดับต้นๆ คือ การป้องกันการแพร่ระบาดและลดอัตราการสูญเสีย เขาจึงให้ความสำคัญต่อการเร่งรีบฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุมให้มากที่สุด จากนั้นสหรัฐฯก็ได้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน และสูญเสียธุรกิจ เช่น SME นอกจากนี้เฟดหรือธนาคารกลางได้อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมแล้วได้อัดฉีดเข้าในระบบเป็นเงินกว่า 5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 25 ต่อ GDP ทำให้สหรัฐฯฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯหดตัวเพียง 3.5% ดีกว่าที่คาดว่าจะหดตัว 6% (เหมือนไทย) กล่าวโดยสรุปสหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาถึงปีนี้ตามที่กล่าวมาแล้วคือทุ่มเงินอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีก 3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที มากกว่าถนนหนทางหรือรถไฟ ประการต่อมาแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ยังคงจะรักษาระดับสภาพคล่องในระบบอย่างต่อเนื่อง โดยปล่อยให้ระดับอัตราดอกเบี้ยลดต่ำเกือบเป็นศูนย์ นั่นคือ นอกจากจะใช้นโยบายการคลังด้วยงบขาดดุลแล้ว ยังใช้นโยบายการเงินเพิ่มสภาพคล่อง ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำอย่างต่อเนื่อง และกลางปีนี้สหรัฐฯตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็ม โดยถ้วนหน้า เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สหรัฐฯคำนึงถึงนั่นคือ สวัสดิภาพของประชาชน และการพยายามลดช่องว่างทางรายได้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเข้ามาเยียวยา และผ่อนปรนภาระการครองชีพของประชาชนรากหญ้า นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณอีกส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น การให้เงินช่วยเหลือและลดภาษีให้กับภาคอุตสาหกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด การใช้วัสดุต่างๆเพื่อบรรเทาสภาพโลกร้อน ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้งบประมาณเพื่อไปพัฒนาคุณภาพแรงงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ความชำนาญ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอันจะนำไปสู่การปรับค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้นในระยะอันใกล้ หากเราจะถอดบทเรียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจไทยจะเทียบไม่ได้กับขนาดอันใหญ่โตของ GDP แต่ถ้าเราย่อส่วนลงตามขนาด GDP และทำการทุ่มเทการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพอเพียงและต่อเนื่อง ด้วยการครอบคลุมบริบทต่างๆเชื่อว่าเราคงจะผ่านพ้นวิกฤติการณ์ทั้งโควิดและเศรษฐกิจไปได้ แต่ที่ผ่านมาการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นเป็นไปอย่างไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และมีขนาดเล็กมากจนไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน แต่กลายสภาพเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทั้งนี้การที่เราจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่องดับไปแล้ว ต้องทุ่มเททั้งนโยบายการคลัง คือ ด้วยงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มเกิน 60% ของ GDP ก็ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก เพราะหากเราทำให้เศรษฐกิจโตได้สัดส่วนหนี้ก็จะลดลง ประการต่อมาเราต้องใช้นโยบายการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น เช่น การปล่อยซอฟต์โลนให้ SME กู้โดยมีรัฐบาลค้ำประกันด้วยบยส. และออกพันธมิตรมาค้ำประกันเงินกู้ ทั้งนี้ให้รวมธุรกิจขนาดเล็กทั้งหลายที่กำลังย่ำแย่เข้ามาให้ได้ รับการเยียวยา และช่วยเหลือ โครงการส่งเสริมการจ้างงานโดยให้ครอบคลุมคนงานเดิมที่ต้องตกงาน ไม่ใช่เฉพาะบัณฑิตจบใหม่ การจัดการฝึกอบรมเพิ่มทักษะหรือขยายทักษะแรงงานเพื่อให้สอดรับต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการจ่ายเงินค่าจ้างให้มาอบรม ส่วนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานควรหันไปพัฒนาระบบไอทีให้รองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่วนการขนส่งทางรางนั้นต้องรีบเร่งพัฒนาระบบรางรถไฟรางคู่แบบ 1 เมตร ให้ครอบคลุมทั้งประเทศก่อน ที่สำคัญรัฐบาลต้องลดภาระของประชาชน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และราคาน้ำมัน ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดด้วยการจ่ายเงินสนับสนุน ยังมีอีกหลายอย่างที่จะคิดดีกว่ามัวไปทำปาหี่อย่างคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกันซึ่งมันจิ๊บจ้อยมาก ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงขยับขึ้นก็จะตกลงมาแบบเดิมอีก ตามหลักการแล้ว ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เราต้องทุ่มเทการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เรียกว่า “Big Push” เพื่อให้ผ่านพ้นจุดวิกฤติอันจะดึงเราตกกลับมาอีกอย่างที่เรียกว่า “Critical Minimum Effort” มิฉะนั้นโอกาสฟื้นตัวคงยากและหากจะฟื้นได้ก็จะใช้เวลาหลายปี ซึ่งถึงเวลานั้นเพื่อนบ้านคงไปไกลแล้ว ที่สำคัญการทุ่มเทกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาลนี้ ต้องระวังเหลือบสังคมอย่าให้ทำการคอร์รัปชันได้