“พล.ต.อ.อดุลย์” ตรวจการบ้านประชารัฐเพื่อสังคม E6 เผยคืบหน้าหลายประเด็น “จ้างงานผู้พิการ-ผู้สูงอายุ” ทะลุเป้า เตรียมชง ครม. รับทราบ กำชับคณะทำงานเร่งวางแผนเคลื่อนงานปี 61
ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว พล.ต.อ.อดุลย์แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 3/2560 พร้อมด้วยดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย ผู้แทนทีมภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน(5 Quick Win) ได้แก่ 1.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการ 2.การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3.การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และ 5.ความปลอดภัยทางถนน ที่ได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลากว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ในแต่ละประเด็นมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งหลังจากการสรุปผลความก้าวหน้าในครั้งนี้ ตนจะนำผลการดำเนินงานของคณะทำงาน E6 รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในประเด็นต่างๆ รวมถึงมอบหมายให้คณะทำงานกำหนดแนวทางการดำเนินงานในปี 2561 พร้อมทั้งวางเป้าหมายในการขับเคลื่อน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน มีการระบุผลลัพธ์ และผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จิตอาสาประชารัฐ และการตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อสังคม ในส่วนของรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามนโยบายประชารัฐอย่างเต็มที่
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในส่วนของภาคประชาสังคม เน้นการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ และเครือข่ายขับเคลื่อนเชิงประเด็นร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ การหนุนเสริมข้อมูลและเครือข่ายคนพิการในประเด็นการจ้างงานคนพิการซึ่งมีภาคเอกชนจ้างงานคนพิการภายใต้ความร่วมมือประชารัฐกว่า 7,500 อัตราในปี 2560 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7,376 อัตรา และร่วมขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรของคนพิการ การสนับสนุนส่งเสริมการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุในภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกิดการมีงานทำสูงถึง 36,476 คน ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้น การส่งเสริมการออมเพื่อยามเกษียณ ที่เกิดการประสานความร่วมมือภาคเอกชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ ในการรณรงค์ให้เกิดการวางแผนการเงินและการออมอย่างจริงจัง การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย ทั้งการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน การพัฒนาแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การสนับสนุนข้อมูลวิชาการและเครือข่ายในการรณรงค์สร้างความตระหนักส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ประชารัฐร่วมใจปลอดภัยทุกเส้นทางร่วมกัน 55 องค์กร ตลอดจนการศึกษาและเริ่มขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนากลไกระบบการคลังเพื่อสังคม (Social Impact Finance) เพื่อเป็นทางเลือกของการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านการพัฒนาสังคม
นายวิชัย กล่าวว่า ภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ อาทิ การขับเคลื่อนการจ้างงานผู้พิการในสถานประกอบการ ได้มีการสร้างความเข้าใจกับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และดำเนินการส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยในวันที่ 29 กันยายน เวลา 11.30 – 17.30 น. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จัดงาน“สานพลังบริษัทจดทะเบียน เพื่อสังคมไทยยั่งยืน” ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้มแข็ง และเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทจดทะเบียนที่สนใจเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสังคมต่อไปและในวันที่ 10 ตุลาคม จะมีการจัดงาน “Japanese Executive Dinner Meeting” กับบริษัทญี่ปุ่น 66 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางบริษัทญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในบริษัทรัฐวิสาหกิจด้วย