สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ พระกรุนี้นับเป็นของดีราคาย่อมเยา และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการ ในช่วงปี พ.ศ.2352 เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาเสนานุรักษ์ ตำแหน่งพระมหาอุปราช พระองค์ได้ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นหนึ่งวัด คือ วัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ และสถาปนาวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงอีก 2 วัด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ′วัดบวรมงคล′ เดิมวัดบวรมงคลนี้มีชื่อเรียกกันทั่วๆ ไปว่า ′วัดลิงขบ′ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางพลัด บางกอกน้อย กทม. เรียกชื่อตามคหบดีผู้สร้างที่ชาวบ้านเรียกว่า ′ลุงขบ′ภายหลังเรียกเพี้ยนไปเป็น ′วัดลิงขบ′ ต่อมาเมื่อมีชาวรามัญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่เป็นแห่งๆ ไป และมีจำนวนหนึ่งได้มาอาศัยอยู่เขตตำบลวัดลิงขบนี้ ดังนั้นจึงมีพระภิกษุสามเณร ชาวรามัญ (มอญ) เข้ามาอาศัยอยู่ในวัดลิงขบนี้เป็นจำนวนมาก พระเครื่องกรุวัดลิงขบมีมากมายหลายพิมพ์ พบในพระเจดีย์องค์หนึ่งเนื่องจากมีชาวบ้านพบพระลักษณะเป็น ′กลีบบัว′ จำนวนมากไหลทะลักออกมาจากส่วนล่างตรงบริเวณฐานพระเจดีย์ (จึงเรียกพิมพ์นี้ว่าพิมพ์กลีบบัว) ชาวบ้านจึงนำไปคืนและแจ้งต่อทางวัดว่าเจดีย์ชำรุด บางส่วนมีคนเช่าไปในราคาสององค์ต่อหนึ่งสลึง จนขึ้นถึงองค์ละหนึ่งบาท ก่อนทางวัดเปิดกรุประมาณหนึ่งสัปดาห์มีพ่อค้าเชื้อสายจีนขายหอยแครงเดินหาบของมาวางใกล้ๆ พระเจดีย์ที่บรรจุพระ เห็นพระทะลักออกมาอีกก็เอาปี๊บใส่แล้วรีบกลับบ้าน ทำให้ข่าวการพบพระซึ่งเดิมชาวบ้านคิดว่าเป็นพระทำแก้บนกระจายไปทั่ว พระญาณเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอจึงสั่งให้เปิดขุดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2509 เพราะเห็นว่าหากปล่อยไว้ต้องมีขโมยขโจรมาลักพระแน่นอน ซึ่งการขุดกรุดังกล่าวมีทหารเรือที่อยู่บนเรือรบหลวงจันทบุรี ซึ่งทอดสมออยู่หน้าวัดมาช่วยตั้งแต่การขุดจนโบกปูนปิดทับเรียบร้อย โดยใช้เวลาเพียงวันเดียวขุดส่วนล่างซึ่งเป็นฐานและเจาะตรงคอระฆัง ได้พบวัตถุมงคลต่างๆ ดังนี้ - พระกลีบบัว เป็นพระเนื้อดินเผาทรงกลีบบัว บรรจุในกระถางมังกรขนาดใหญ่แบบโบราณถึง 4 กระถาง และพบอยู่ในห่อผ้าประเจียดที่เก่าขาดอีกหลายห่อ เป็นพระที่ไหลออกมาจนผู้คนพบเห็น ทั้งบริเวณฐานและคอระฆัง ซึ่งส่วนฐานนั้นเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นลงอยู่เสมอจึงมีคราบกินหนาและชุ่มน้ำ ชาวบ้านเรียกว่าพระน้ำท่วม ส่วนที่คอระฆังอยู่ในสภาพดีเหมือนใหม่ พบ 3 ชนิด คือ ชนิดเนื้อดินธรรมดา ชนิดร่องชาดมีสีแดง และชนิดลงรัก นับได้เกือบห้าหมื่นองค์ - พระเนื้อชิน พบปางต่างๆ ได้แก่ ปางเปิดโลก ปางห้ามญาติ ปางป่าเลไลย์ ปางไสยาสน์ ปางถวายเนตร ฯลฯ บางองค์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางองค์ผุระเบิด ส่วนใหญ่พบบริเวณคอระฆังประมาณ 200 องค์ - พระดินเผาแบบต่างๆ มี แบบพระนางพญา พระปางลีลา พระหลวงพ่อโต พระโคนสมอ พบที่คอระฆังจำนวนไม่มากนักน่าจะเป็นพระนำมาฝากกรุ - พระสมเด็จสามชั้น เป็นพระเนื้อผงอยู่ในโถแก้วแบบโบราณ พบที่คอระฆังเพียง 3 องค์ (องค์หนึ่งเป็นพระพิมพ์สามเหลี่ยมมีฐานผ้าทิพย์ แต่ชำรุดหักตรงฐาน) - ตะกรุด พบจำนวนหนึ่งบริเวณคอระฆัง - เหรียญเซียว หรือเหรียญเสี้ยว เป็นเหรียญทองแดงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบประมาณ 7 เหรียญ - พระบูชา พบพระสมัยเชียงแสน 1 องค์ พระสังกัจจายน์ 3 องค์ และพระงั่ง 3 องค์ จากคอระฆัง - พระธาตุ พบเม็ดพระธาตุ 80 องค์จากคอระฆัง หลังจากปิดกรุในวันนั้น ตกค่ำชาวบ้านแห่กันมารื้อค้นรอบๆ ได้ พระกลีบบัว กันไปอีกคนละหลายองค์ พระกรุนี้นับเป็นของดีราคาย่อมเยา และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการครับผม